ปัญหาสายตาสั้น เอียง และสายตายาวแต่กำเนิด (Hyperopia) ถือเป็นอีกหนึ่งปัญหาสายตาที่ทำให้เกิดความลำบากในการใช้ชีวิตประจำวัน ปัจจุบันการแก้ปัญหาสายตามีหลายทางเลือก ไม่ว่าจะเป็นการใส่แว่น ใส่คอนแท็กเลนส์ การทำเลสิก และการใส่เลนส์เสริม ICL (Implantable Collamer Lens) ซึ่งเป็นการแก้ไขภาวะสายตาผิดปกติโดยไม่ทำลายเนื้อเยื่อกระจกตา ไม่ทำให้ตาแห้งหรือเกิดการอักเสบ ทั้งยังทำงานร่วมกับเลนส์ตาธรรมชาติได้เป็นอย่างดี
เลนส์เสริม ICL แก้ปัญหาสายตาสั้น เอียง ยาว
พญ.ฐิดานันท์ รัตนธรรม จักษุแพทย์ โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า ICL หรือ Implantable Collamer Lens คือ การใส่เลนส์เสริมเพื่อแก้ไขปัญหาสายตาผิดปกติ ไม่ว่าจะเป็นสายตาสั้น เอียง โดยใช้วัสดุ Collamer ที่อ่อนโยนต่อดวงตา โดยเลนส์เสริมนี้สามารถพับได้ให้มีขนาดเล็ก ยืดหยุ่น นุ่มชุ่มชื้น และสั่งตัดพิเศษจากประเทศสวิสเซอร์แลนด์ ตามค่าสายตาและปัญหาของแต่ละบุคคล (tailor-made)
การใส่เลนส์เสริม ICL
โดยจักษุแพทย์ที่มีความชำนาญ จะใส่เลนส์เสริมบริเวณช่องระหว่างม่านตาและเลนส์ตาธรรมชาติ เพื่อทำหน้าที่แก้ไขภาวะสายตาผิดปกติ โดยเลนส์เสริมจะทำหน้าที่เหมือนคอนแทคเลนส์ ต่างกันเพียงเลนส์เสริมจะใส่อยู่ในดวงตา โดยไม่เปลี่ยนโครงสร้างทางกายภาพของกระจกตา ไม่ก่อให้เกิดภาวะตาแห้ง ไม่ทำให้กระจกตาบางลง และสามารถถอดออกได้ (removable) เพื่อรองรับเทคโนโลยีเลนส์เสริมสายตายาวตามอายุหรือค่าสายตาเปลี่ยนในอนาคต (ใส่เลนส์เทียมรักษาต้อกระจก)
การแก้ปัญหาทางสายตาโดยการใส่เลนส์เสริม ICL
แรกเริ่มเกิดขึ้นเมื่อปี 1993 ที่ประเทศรัสเซีย โดยเลนส์ในระยะแรกจะแก้ปัญหาสายตาสั้นเพียงอย่างเดียว และเลนส์ไม่มีรูระบายน้ำ ต้องทำเลเซอร์อีกครั้งในภายหลังเพื่อเจาะรูระบายน้ำในตาออก กระทั่งปัจจุบันเลนส์เสริม ICL ได้รับการพัฒนาให้สามารถแก้ไขปัญหาค่าสายตาสั้น สายตาเอียง และสายตายาวแต่กำเนิด (hyperopia) ได้ ส่วนสายตายาวตามอายุเลนส์เสริม ICL อาจช่วยการมองใกล้ได้บางส่วน โดยมีรูเล็กๆ 2 จุดที่เลนส์เพื่อระบายน้ำในตา ช่วยลดผลกระทบไม่ให้เกิดความดันสูงในลูกตา ที่จะเป็นอันตรายต่อดวงตาได้
ผู้ที่เหมาะกับการใส่เลนส์เสริม ICL
ได้แก่ 1.มีค่าสายตาสั้น (ระหว่าง 100 – 2,400) หรือสายตาที่เอียง (ระหว่าง 25-600) 2.มีปัญหาตาแห้ง มีกระจกตาที่ค่อนข้างบาง หรือไม่ต้องการทำเลสิก 3.มีอายุ 21 – 45 ปี เพราะเป็นช่วงอายุที่ค่าสายตาค่อนข้างคงที่ 4.มีช่องว่างระหว่างเลนส์กระจกตามากกว่า 4-5 มิลลิเมตร 5.ไม่เป็นต้อกระจก หรือโรคทางตาอื่นๆ
ขั้นตอนการแก้ไขปัญหาสายตาด้วยการใส่เลนส์เสริม ICL
เริ่มจากก่อนเข้ารับการผ่าตัด คนไข้จะได้รับการหยอดยาขยายม่านตาและยาชา จากนั้นจักษุแพทย์จะทำการเปิดช่องขอบด้านข้างของกระจกตาขนาดประมาณ 3 มิลลิเมตร เพื่อทำการใส่เลนส์เสริม ICL ผ่านช่องว่างระหว่างเลนส์ตา ขาของเลนส์เสริมจะถูดจัดให้อยู่ที่บริเวณรอยเว้าภายใต้ม่านตา ใช้ระยะเวลาโดยประมาณ 30 นาที แผลมีขนาดเล็กประมาณ 3 มิลลิเมตร และสามารถสมานหายได้เองโดยไม่ต้องเย็บแผล เจ็บน้อย คนไข้ไม่ต้องดมยาสลบ
โดยเลนส์เสริมที่นำมาใส่ให้คนไข้ได้รับการวัดและสั่งตัดเพื่อแก้ไขปัญหาตามค่าสายตาของคนไข้แต่ละราย เพื่อให้สามารถใส่เลนส์ได้พอดีเหมาะกับดวงตาแต่ละข้าง ดังนั้น การวัดและการสั่งตัดเลนส์จึงเป็นเรื่องสำคัญ ภายหลังการใส่เลนส์คนไข้จะมองเห็นได้ชัดเจนขึ้นภายในไม่กี่ชั่วโมงหลังรักษา สามารถกลับบ้านได้ในวันเดียวกันโดยไม่ต้องนอนพักที่โรงพยาบาล สามารถใช้ชีวิตประจำวันได้ปกติ และเลนส์สามารถถอดออกได้ ไม่ว่าจะเพราะการเปลี่ยนเลนส์ ค่าสายตาเปลี่ยนในอนาคต หรือเกิดภาวะต้อกระจกเมื่อสูงวัยขึ้น
คุณสมบัติที่ดีของเลนส์เสริม ICL
คุณสมบัติที่ดีของเลนส์เสริม ICL คือ ผลิตจากวัสดุที่เรียกว่า คอลลาเมอร์ (Collamer) มีส่วนประกอบของคอลลาเจน (Collagen) ผสมกับโคพอลิเมอร์ (Copolymer) ซึ่งมีคุณสมบัติใกล้เคียงกับเลนส์แก้วตาธรรมชาติของมนุษย์ ลักษณะบางใส มีความยืดหยุ่นเข้ากับเลนส์ตาธรรมชาติได้ดี
เนื่องจากการมองเห็นในแต่ละคนจะมีความแตกต่างกันออกไป ค่าสายตาระดับ 20/20 จะเป็นค่าสายตาของคนที่มีสายตาปกติ ซึ่งในคนที่มีสายตาสั้น สายตาเอียง สายตายาวแต่กำเนิด การใส่เลนส์เสริม ICL จะช่วยแก้ไขสายตาให้อยู่ในระดับ 20/20 ช่วยให้คุณภาพการมองเห็นที่คมชัด (High definition vision) ไม่ก่อให้เกิดอาการตาแห้งหรือกระจกตาอักเสบ ช่วยลดภาวะแสงกระจายในเวลากลางคืน พร้อมช่วยป้องกันรังสี UV ชะลอการเกิดต้อกระจก ป้องกันอันตรายต่อจอประสาทตา รวมถึงช่วยรักษาสายตาสำหรับคนที่มีข้อจำกัดหากต้องรักษาในรูปแบบอื่น
ทั้งนี้ การใส่เลนส์เสริม ICL นับเป็นอีกหนึ่งทางเลือกของการรักษาภาวะสายตาสั้น เอียง และสายตายาวแต่กำเนิด โดยไม่ทำให้กระจกตาบางลง รวมถึงสามารถถอดเปลี่ยนเลนส์ได้เพื่อแก้ไขปัญหาสายตาให้เหมาะสม สิ่งสำคัญคือควรเข้ารับการรักษากับจักษุแพทย์ที่มีความชำนาญและประสบการณ์ด้านการแก้ไขค่าสายตาผิดปกติด้วยการใส่เลนส์เสริม รวมถึงความพร้อมของอุปกรณ์และเทคโนโลยีในการรักษาเป็นสำคัญ
พญ.ฐิดานันท์ รัตนธรรม จักษุแพทย์ โรงพยาบาลกรุงเทพ