รองเท้า สาระน่ารู้ เท้า

สาระน่ารู้เกี่ยวกับ เท้า – อาการบวม เจ็บเท้า หนังด้าน เจ็บเล็บ

Home / สุขภาพทั่วไป / สาระน่ารู้เกี่ยวกับ เท้า – อาการบวม เจ็บเท้า หนังด้าน เจ็บเล็บ

ใครต่อใครต่างลงความเห็นว่า รองเท้าส้นสูงจะทำให้สาวๆ ดูสง่าผ่าเผย และเทรนดี้จ๋าๆ แต่ใครจะรู้ว่า บนความสูงมีภัยร้ายแฝงกายอยู่เงียบๆ โดยที่เราไม่รู้ตัว วันนี้เรามีข้อสะกิดใจเล็กๆ ถึงผลเสียและอันตรายต่อสุขภาพจากความสูงที่คุณหลงใหล เข้าตำรา ‘ยิ่งสูงยิ่งหนาว’ เลยทีเดียว

สาระน่ารู้เกี่ยวกับ เท้า – อาการบวม เจ็บเท้า หนังด้าน เจ็บเล็บ

เคยเป็นอาการแบบนี้กันมั้ย

  • ปวดเมื่อยบริเวณฝ่าเท้า นิ้วเท้า และน่อง บางวันก็เกิดอาการหดเกร็งของกล้ามเนื้อที่น่องเป็นเวลานาน
  • เกิดอาการบวม และเจ็บเท้าบางตำแหน่ง เช่น นิ้วเท้า ส้นเท้า ข้อเท้า และเอ็นร้อยหวาย
  • มีอาการหนังด้าน เล็บขบ และเจ็บเล็บ รวมไปถึงอาการปวดหลังอย่างไม่ทราบสาเหตุ

ถ้าคุณมีอาการข้างต้น..

ไม่ต้องหาสาเหตุที่ไหนอื่นไกล ไม่ต้องเฉไฉว่าวันนี้ทำงานหนัก หรือเดินช้อปจนปวดขาเมื่อยน่อง เพราะศัลยแพทย์กระดูก และนักสรีระวิทยามนุษย์ ให้ข้อมูลตรงกันว่า อาการปวดเมื่อยที่กล่าวมา เกิดจากการที่ผู้หญิงใส่รองเท้าส้นสูงที่สูงเกินไป ซึ่งแม้จะทำให้เราดูสูงสง่า (กว่าชาวบ้าน) แต่รอยเท้าเราจะสั้นลงกว่าการเดินแบบเต็มเท้า พูดง่ายๆ ว่า บริเวณที่เท้ารับน้ำหนักของเราจะน้อยลง ทำให้ร่างกายรักษาสมดุลยากขึ้น กล้ามเนื้อฝ่าเท้า ขา และน่อง จึงต้องทำงานหนักกว่าเดิม เพื่อรับน้ำหนักและรักษาสมดุล

อีกอย่างก็คือ ด้วยความลาดเอียงของรองเท้าส้นสูง ทำให้น้ำหนักส่วนใหญ่ถูกถ่ายไปตกที่บริเวณปลายเท้ามากกว่าปกติ ทำให้จุดสมดุลการทรงตัวของร่างกายเปลี่ยนไปเช่นกัน การเปลี่ยนแปลงสมดุลการทรงตัวดังกล่าว จะทำให้กล้ามเนื้อฝ่าเท้า น่อง และขาทำงานหนักจนเกิดอาการปวดเมื่อยได้ง่าย

และแรงสะเทือนจากการเดินจะไม่ถูกส่งไปยังกระดูกเท้าที่มีคุณสมบัติในการยืดหยุ่น แต่กลับส่งไปโดยตรงยังกระดูกสันหลัง บริเวณส่วนหลังจึงแอ่นมากขึ้น ทำให้เกิดอาการปวดหลังตามมาได้ การเปลี่ยนจุดสมดุลยังทำให้กระดูกเชิงกรานเอียงไปข้างหน้า ทำให้การหดตัวกล้ามเนื้อที่ท้องผิดจังหวะ ในบางรายส่งผลถึงอาการปวดกล้ามเนื้อที่ท้องได้อีกด้วย

นี่ยังไม่นับรวมถึงอาการเล็บขบ เจ็บที่นิ้วเท้า รองเท้ากัด หนังด้าน ข้อเท้าแพลง ปวดส้นเท้า และอีกสารพัดปัญหาที่อาจเกิดตามมาจากการสวมรองเท้าที่ไม่เหมาะสม แต่อย่าเพิ่งถอดใจไปลากแตะ หรือใส่รองเท้าผ้าใบนะคะ ใครๆ ก็อยากสวยสง่า สูงเพรียวระหงกันทั้งนั้น แค่อย่าให้ถึงกับต้องแลกด้วยปัญหาสุขภาพเรื้อรังแบบนี้เลย มันไม่คุ้มกัน เอาเป็นว่ายึดทางสายกลาง สวยด้วยสุขภาพดีด้วยนั่นแหละจึงจะเรียกสาวสมัยใหม่ตัวจริง

รองเท้าสูงแค่ไหนดี

อันนี้ตอบยาก เพราะโดยโครงสร้างสรีระของแต่ละคนแตกต่างกัน ไม่ว่าจะเป็นความหนาแน่นและความแข็งแรงของมวลกระดูก รวมถึงน้ำหนักตัวของแต่ละคน และจังหวะการก้าวเดินและถ่ายเทน้ำหนัก ซึ่งแต่ละคนก็แตกต่างกัน แต่โดยทั่วไป หากรองเท้าที่สูงเกิน 4 นิ้วครึ่ง ก็ถือว่าสูงเกินไปและอาจมีผลเสียต่อสุขภาพได้

แล้วจะเลือกรองเท้าส้นสูงอย่างไร

จริงๆ แล้วหากไม่จำเป็น ไม่แนะนำให้ใส่รองเท้าที่มีส้นสูงจนเกินไปนัก การเลือกรองเท้าส้นสูงที่เหมาะสม เวลาลองใส่ให้สังเกตดูว่า แนวกระดูกสันหลัง กระดูกเชิงกราน และท้องต้องไม่แอ่นและเกร็งจนเกินไป ยิ่งคนที่ลงพุงอยู่แล้วหรือคุณแม่ที่ตั้งท้อง ขอแนะนำว่า ให้งดใส่รองเท้าสูงๆ โดยเด็ดขาด เพราะอาจส่งผลเสียร้ายแรงต่อสุขภาพหรือลูกในครรภ์ได้

เลือกรองเท้าที่มีน้ำหนักเบา พื้นรองเท้านิ่มและยืดหยุ่น พื้นรองเท้าต้องกว้างพอที่จะรับน้ำหนักได้ทั้งฝ่าเท้า ไม่บีบและรัดจนเกินไป ยิ่งส้นสูงมาก ความลาดเอียงมาก ยิ่งต้องระวังบริเวณหัวของรองเท้าอย่าให้แหลมจนเกินไป หากนิยมรองเท้าหัวแหลมๆ แนะนำให้เลือกที่ส้นเตี้ยสักหน่อย น่าจะเดินง่ายและดีต่อสุขภาพสาวๆ มากกว่า

วัสดุที่ใช้ทำรองเท้าต้องนิ่ม และระบายอากาศได้ดี เมื่อลองสวมใส่แล้วต้องไม่มีจุดบีบรัด ให้รู้สึกเจ็บ หรือเสียดสีเท้าของเราแต่อย่างใด

ข้อควรจำ

ข้อแนะนำอีกเล็กน้อยที่อยากจะบอกสาวๆ ก็คือ ไม่ควรสวมรองเท้าส้นสูงเดินไปไหนมาไหนติดต่อกันเป็นเวลานานๆ ควรจะใส่เป็นพักๆ โดยหารองเท้าแตะ หรือรองเท้าส้นเตี้ยเก๋ๆ มาใส่สลับ เพื่อให้กล้ามเนื้อและกระดูกสันหลังได้พักในท่าปกติ เพื่อสุขภาพที่ดีของกล้ามเนื้อขาและกระดูกสันหลัง เกิดเป็นสาวยุคใหม่ทั้งที ก็ต้องสวยด้วย สุขภาพดีด้วยจะได้สวยครบสูตร

กรณีที่เกิดอุบัติเหตุจากรองเท้า

เช่น ข้อเท้าแพลง ใน 2-3 วันแรกให้ใช้น้ำแข็งประคบนาน 5-10 นาที ประคบวันละ 2-3 ครั้ง เพื่อลดอาการปวด พักการใช้ข้อเท้าชั่วคราว โดยพันข้อเท้าด้วยผ้ายืดเพื่อลดการกระเทือนในส่วนนั้น หากอาการไม่ดีขึ้น ต้องรีบไปปรึกษาแพทย์ทันที

หากมีอาการปวดเมื่อยที่กล้ามเนื้อขา ให้แช่เท้าในน้ำอุ่นจัดๆ สัก 10-15 นาทีพร้อมกับยืดกล้ามเนื้อเท้าและนิ้วเท้าด้วยการกระดกปลายเท้าขึ้นแล้วถีบปลายเท้าลง หันฝ่าเท้าเข้าด้านในแล้วหันฝ่าเท้าออกด้านนอก งอนิ้วเท้า แล้วเหยียดนิ้วเท้า หรืออาจใช้มือช่วยบีบนวดโดยเฉพาะที่บริเวณอุ้งเท้า ซึ่งมีเส้นเลือดและเส้นประสาทจำนวนมาก อาการเมื่อยล้าจะทุเลาเบาบางลง

บทความแนะนำ