ข่าวการแพร่ระบาดของ โรคมือเท้าปาก ในสถานรับเลี้ยงเด็กและโรงเรียน มักสร้างความตื่นตระหนกให้กับพ่อแม่ผู้ปกครอง ครู และสังคม เมื่อพบผู้ป่วย “โรคมือเท้าปาก” ในสถานรับเลี้ยงเด็กและโรงเรียน โดยเฉพาะเมื่อมีการระบาดถึงขั้นต้องสั่งปิดสถานที่ดังกล่าวชั่วคราว ความตื่นตระหนกเพิ่มมากขึ้นอีกเมื่อมีสถานการณ์แพร่ระบาดของเชื้อ EV 71 เกิดขึ้นในประเทศเพื่อนบ้าน และมีผู้ป่วยเสียชีวิตจำนวนหนึ่ง
รับมืออย่างไรกับ โรคมือเท้าปาก
อาการของผู้ป่วยที่ทำให้สงสัยว่าอาจเป็น โรคมือเท้าปาก
เมื่อมีการแพร่ระบาดของ “โรคมือเท้าปาก” ในสังคม ทำให้ผู้ที่ทำงานเกี่ยวกับเด็กเล็ก ไม่ว่าจะเป็นครอบครัว สถานรับเลี้ยงเด็ก โรงเรียน และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ต้องเฝ้าติดตามสถานการณ์และเฝ้าดูอาการเจ็บป่วยของเด็กเล็กโดยใกล้ชิด การตรวจสุขภาพของเด็กโดยการวัดไข้ และตรวจหาตุ่มน้ำใสในช่องปาก ฝ่ามือ และฝ่าเท้า และแยกผู้ป่วยออกจากเด็กอื่นหรือส่งกลับบ้าน เป็นมาตรการสำคัญที่นำมาใช้ในการควบคุมการแพร่ระบาดให้อยู่ในวงจำกัด
ผู้ป่วย “โรคมือเท้าปาก” จะมีอาการไข้เหมือนกับอาการไข้หวัดทั่วไป แต่จะมีอาการเจ็บในช่องปาก ตรวจพบตุ่มหรือแผลภายในช่องปาก และมักตรวจพบตุ่มน้ำใสที่บริเวณฝ่ามือและฝ่าเท้าร่วมด้วย
การดูแลรักษาผู้ป่วยโรคมือเท้าปาก
ผู้ป่วย “โรคมือเท้าปาก” ในประเทศไทยส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรง ไม่จำเป็นต้องพบแพทย์ทุกราย พ่อแม่ ผู้ปกครอง และครู สามารถให้การดูแลรักษาผู้ป่วยเบื้องต้นที่บ้านและที่โรงเรียนได้
“โรคมือเท้าปาก” ไม่มียาที่ใช้ในการรักษาจำเพาะ การรักษาส่วนใหญ่เป็นการรักษาตามอาการด้วยการให้ยาลดไข้ ยารักษาหวัด และยาทาตุ่มในช่องปากเพื่อลดอาการเจ็บ ควรดื่มน้ำมากๆ รับประทานอาหารที่มีประโยชน์ และพักผ่อนให้เพียงพอ การดื่มน้ำเย็น อมน้ำแข็ง หรือกินไอศกรีม เพื่อในเกิดอาการชาในช่องปาก จะช่วยทำให้ผู้ป่วยดื่มน้ำรับประทานอาหารได้เพียงพอ ลดโอกาสในการต้องรับผู้ป่วยไว้รักษาในโรงพยาบาล เพื่อให้สารน้ำ หรือน้ำเกลือทางหลอดเลือดได้มาก
รู้ได้อย่างไรว่าผู้ป่วยโรคมือเท้าปากอาจมีอาการรุนแรง
ผู้ป่วย “โรคมือเท้าปาก” ที่มีอาการซึ่งทำให้สงสัยว่าโรคอาจมีความรุนแรงคือ ผู้ป่วยที่มีไข้สูงอยู่นานหลายวัน มีอาการซึม มีอาการผิดปกติของการหายใจและการเต้นของหัวใจ หากมีอาการดังกล่าวต้องรีบพบแพทย์เพื่อการวินิจฉัยโรคและการรักษาโดยเร็ว เพราะผู้ป่วยอาจมีความเสี่ยงสูงในการเกิดภาวะแทรกซ้อนทางสมองซึ่งได้แก่ภาวะแกนสมองอักเสบ ซึ่งแม้จะพบได้น้อยมาก แต่มีความรุนแรงถึงขั้นทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตได้
ทำอย่างไรให้ห่างไกลจากโรคมือเท้าปาก
การป้องกัน “โรคมือเท้าปาก” ทำได้ยาก เนื่องจากเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคนี้มีการติดต่อจากผู้ป่วยไปยังเด็กคนอื่นได้ง่าย ปัจจุบันยังไม่มีวัคซีนที่ใช้ในการป้องกัน การป้องกันที่สำคัญคือ การหลีกเลี่ยงในการพาเด็กเล็กเข้าไปในที่ชุมชนโดยไม่จำเป็น โดยเฉพาะในช่วงที่มีการแพร่ระบาดของโรค ไม่ว่าจะเป็นห้างสรรพสินค้าหรือโรงพยาบาล และหลีกเลี่ยงการส่งเด็กไปฝากเลี้ยงในสถานรับเลี้ยงเด็กโดยไม่จำเป็นหรือก่อนวัยอันควร
ผู้ป่วย “โรคมือเท้าปาก” ควรได้รับการแยกออกจากเด็กคนอื่นโดยให้หยุดพักอยู่ที่บ้าน การปิดสถานรับเลี้ยงเด็กและสถานศึกษาชั่วคราว กรณีพบผู้ป่วยหลาย ๆ คน มีความจำเป็นในการควบคุมโรค ควรทำความสะอาดห้องต่างๆ ภายในอาคารและทำความสะอาดของเล่นเด็ก รณรงค์ให้เด็กและผู้ใหญ่ที่ทำงานกับเด็กล้างมือบ่อยๆ โดยเฉพาะก่อนรับประทานอาหาร หลังเข้าห้องน้ำ และหลังจากการสัมผัสของเล่น
เช่นเดียวกับโรคติดเชื้อทางระบบทางเดินหายใจทั่วไป เด็กที่เป็นไข้ เป็นไข้หวัด หรือเด็กที่สงสัยว่าอาจเป็นโรคมือเท้าปาก ควรล้างมือบ่อยๆ และสวมหน้ากากอนามัย.
รศ.นพ.ชิษณุ พันธุ์เจริญ ภาควิชากุมารเวชศาสตร์ คณะแพทย์ศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย