ยานี้เก็บอย่างไรดี? ยานี้ต้องกันแสงแดดไหม? ต้องใส่ซองกันความชื้นหรือไม่? คำถามการเก็บยาพวกนี้เป็นคำถามยอดนิยมมาก ตั้งแต่อดีตจนปัจจุบัน เพราะอะไรหรือ? หากตอบด้วยความรู้สึกที่เป็นผู้ใช้ยา คือเราอยากให้ยาที่เรารับประทาน ยังคงไว้ซึ่งประสิทธิภาพการรักษา ไม่เสื่อมหรือหมดอายุก่อนจบการรักษา แน่นอนว่าการรับยาในแต่ละครั้งเรามักจะได้รับการจ่ายยามาเพื่อทานอย่างน้อยเป็นเวลา 3-5 วัน บางท่านอาจจะได้รับยานานเป็นเดือนๆ โดยเฉพาะผู้ป่วยโรคเรื้อรัง เช่น โรคหัวใจ โรคความดันโลหิตสูง หรือผู้ป่วยโรคเรื้อรัง ที่จำเป็นต้องมีการทานยาตลอดชีวิต ดังนั้นความรู้และความเข้าใจในการจัดเก็บยาจึงเป็นเรื่องที่สำคัญมาก
วิธีเก็บยาให้คุณภาพดี
ทุกสิ่งในโลกนี้มีการเสื่อมสลายตลอดเวลา จะแตกต่างกันที่อัตราเร็วในการเสื่อมสลาย การจัดเก็บยาที่ไม่ถูกต้องสามารถทำให้เกิดการเสื่อมสลาย (degradation) ของตัวยาสำคัญ (active pharmaceutical ingredients) ไวขึ้น เนื่องจากปัจจัยทางด้านสภาวะแวดล้อม ได้แก่ ความชื้น อุณหภูมิ สารเคมี แสงแดดฯลฯ ปัจจัยเหล่านี้ล้วนแต่มีผลในการเกิดการเสื่อมสลายของตัวยาสำคัญได้ทั้งสิ้น
การเสื่อมสลายของตัวยาสำคัญส่งผลให้ปริมาณตัวยาสำคัญต่อยาหนึ่งเม็ดลดลง ซึ่งเมื่อเราทานยาเข้าไปจะทำให้ระดับยาในเลือดไม่ถึงระดับที่มีผลต่อการรักษาโรค … โรคก็จะไม่หาย การเสื่อมสลายจะเกิดขึ้นได้ทั้งจากตัวยาสำคัญหรือสารช่วยในตำรับ (excipients) ซึ่งอาจส่งผลก่อให้เกิดสารเคมีที่เป็นอันตรายต่อร่างกายได้ ยกตัวอย่างเช่น
ยาแอสไพริน (aspirin)
เป็นยาที่มีการใช้มากในผู้ป่วยโรคหัวใจเพื่อต้านการแข็งตัวของเกร็ดเลือด การเก็บรักษายาแอสไพรินจำเป็นต้องระวังความชื้นเนื่องจากความชื้นทำให้ยาดังกล่าวสลายตัวเป็นกรดซาลิไซลิก (salicylic acid) และกรดอะซิติก (acetic acid) การรับประทานกรดซาลิไซลิกนั้นไม่มีผลต่อการต้านการแข็งตัวของเกล็ดเลือด (ผลการรักษา) ซ้ำยังมีอันตรายต่อร่างกาย เมื่อได้รับเข้าไปในปริมาณที่สูงๆ
เป็นความโชคดีอย่างหนึ่งของยาแอสไพริน คือ เราสามารถสังเกตการสลายตัวของยาแอสไพรินได้ด้วยการดม!! หากดมเม็ดยาแล้วพบว่ามีกลิ่นเปรี้ยวเหมือนน้ำส้มสายชูซึ่งกลิ่นที่ว่าก็คือ กลิ่นของกรดอะซิติกนั่นเอง หากยาแอสไพรินมีการสลายตัวเยอะ เราก็จะได้กลิ่นของน้ำส้มสายชูที่ฉุนมาก
การเสื่อมของยาที่สามารถสังเกตได้อีกตัวอย่าง คือ ยาเม็ดวิตามินซีที่เมื่อเกิดการเสื่อมสลาย จะเกิดเป็นจุดด่างสีน้ำตาลขึ้นบนเม็ดยา “แต่จะเกิดอะไรขึ้นหากเป็นยาอื่นที่เราไม่สามารถสังเกต การสลายตัวด้วยประสาทสัมผัสของเราเองละครับ?”
การแบ่งยาจากกระปุกใหญ่ หรือแผงยา
การแบ่งยาออกจากกระปุกยาขวดใหญ่ หรือการแกะยาออกจากแผงยา เพื่อนำไปใส่ในกล่องยาหรือตลับยาเล็กๆ เป็นอีกพฤติกรรมหนึ่งที่สร้างความสะดวกสบายให้แก่ผู้ป่วย/ผู้ใช้ยา ในการเก็บรักษาและพกพาไปนอกบ้านระหว่างวัน รวมถึงเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารยาแก่ผู้ป่วย ในกรณีที่ตลับยามีการระบุวัน หรือมื้ออาหารที่ต้องรับประทานยาไว้ เพื่อกันลืม อย่างไรก็ตามเภสัชกร ผู้ป่วย ผู้จัดยา หรือผู้ใช้ยา ควรมีความรู้ในการจัดเก็บหรือแบ่งบรรจุยา โดยเลือกภาชนะที่เหมาะสมเพื่อป้องกันการเสื่อมสลายของตัวยาสำคัญได้
คำแนะนำในการจัดเก็บหรือแบ่งบรรจุยา
ไม่ควรแกะยาที่บรรจุในแผงหรือแบ่งออกจากภาชนะ เช่น กระปุกยาหรือขวดยาที่ทางผู้ผลิตได้บรรจุมาไว้แต่แรกเพราะประเภทบรรจุภัณฑ์เริ่มแรกนั้น จะได้ตามมาตรฐานที่ตำรายาระบุไว้ (จะกล่าวถึงชนิดของภาชนะบรรจุยาที่ระบุในตำรายา ตำราที่ว่าด้วยยาที่เป็นพื้นฐานที่สำคัญและใช้อ้างอิงทางเภสัชศาสตร์ ต่อไป)
หากมีความจำเป็น ที่ต้องแกะยาออกจากแผง หรือแบ่งออกจากกระปุกใหญ่
ในกรณีที่เป็นแผงยา
อาจจะทำการตัดแบ่งแผงยาออกเป็นขนาดย่อยๆ และบรรจุลงในกล่อง ซองหรือตลับยาที่จัดเตรียมไว้ โดยขอบแผงยาที่ตัดแล้วจะต้องไม่มีส่วนใดฉีกขาดหรือมีรูรั่วทะลุถึงส่วนในที่บรรจุยาเม็ดในแผง
ในกรณีแบ่งยาออกจากกระปุกใหญ่ หรือแกะยาออกจากแผง ลงในภาชนะบรรจุใหม่
ให้เลือกพิจารณาภาชนะที่ปิดแน่น (Tight)ในการจัดเก็บเป็นลำดับแรก และควรมีคุณสมบัติที่กันแสงได้ หากไม่มีและจำเป็นต้องแบ่งยาลงในภาชนะบรรจุประเภทปิดสนิท เช่น ซองยา กล่องยาหรือตลับยา จะต้องปิดภาชนะให้สนิทเสมอและไม่ควรแบ่งยาเพื่อรับประทานเกิน 1 อาทิตย์(ระยะเวลาอาจเพิ่มขึ้นหรือลดลงได้ ตามความคงตัวของตัวยา)
ต้องสังเกตลักษณะกายภาพของยาที่รับประทาน หากพบว่าเม็ดยามีลักษณะที่ผิดปกติหรือเปลี่ยนไปจากเดิมที่เคยทาน ควรงดทานยาดังกล่าวและปรึกษาเภสัชกร
แหล่งข้อมูล : ภก. บรมพจน์ พฤฒิวนาสันฑ์ ภาควิชาเภสัชเคมี คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพจาก http://morguefile.com/