ปัจจุบัน คอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต สมาร์ทโฟนต่างก็เข้ามามีบทบาทกับชีวิตประจำวันเป็นอย่างมาก ทำให้หลายคนที่นั่งจ้องจอคอมพิวเตอร์ติดกันเป็นเวลานานอาจเกิด อาการปวดเมื่อยตา ตาแห้ง แสบตา เคืองตา ตาพร่ามัว ซึ่งอาจบ่งบอกว่ากำลังเสี่ยงกับกลุ่มอาการที่เรียกว่า Computer Vision Syndrome (CVS) กลุ่มอาการนี้ แม้ไม่ได้ก่อให้เกิดอันตรายร้ายแรงต่อดวงตาหรือการมองเห็น แต่มักทำให้เกิดความไม่สบายตา และอาจเป็นปัญหารบกวนการทำงานหรือการใช้ชีวิตประจำวันได้
5 คำแนะนำ ดูแลสุขภาพดวงตา
จ้องคอมฯ นาน เคืองตา ตาพร่ามัว ปัญหาในกลุ่มอาการ Computer Vision Syndrome
พญ.วีรยา พิมลรัฐ จักษุแพทย์ โรงพยาบาลกรุงเทพ กล่าวว่า Computer Vision Syndrome (CVS) คือ กลุ่มอาการทางตาที่เกิดจากการใช้สายตากับคอมพิวเตอร์เป็นเวลานาน โดยความรุนแรงจะเพิ่มขึ้นตามระยะเวลาในการใช้งานและจ้องหน้าจอคอมพิวเตอร์อย่างต่อเนื่อง มีการศึกษาพบว่า ประมาณ 90% ของผู้ที่ใช้คอมพิวเตอร์ต่อเนื่องมากกว่า 3 ชั่วโมงต่อวัน จะมีอาการ Computer Vision Syndrome อย่างใดอย่างหนึ่ง หรืออาจเป็นร่วมกันจนส่งผลกระทบกับคุณภาพชีวิตในแต่ละวัน โดยลักษณะของกลุ่มอาการ CVS มีดังนี้ ปวดเมื่อยตา ตาแห้ง แสบตา เคืองตา ตาพร่ามัว โฟกัสได้ช้าลง ตาสู้แสงไม่ได้ ปวดกระบอกตา ปวดศีรษะ หรือบางครั้งอาจมีอาการปวดหลัง ไหล่ หรือต้นคอร่วมด้วย
โอกาสที่จะเกิดความไม่สบายดวงตา
นอกจากอาการผิดปกติที่เกิดขึ้นแล้ว ปัจจัยเสี่ยงเหล่านี้ ก็ส่งผลให้มีโอกาสที่จะเกิดความไม่สบายดวงตาเกิดขึ้นได้ เช่น
1.ขณะจดจ่อกับการอ่านหนังสือหรือจ้องจอคอมพิวเตอร์นานๆ จะมีการกระพริบตาน้อยลง ทำให้เกิดอาการตาแห้งง่ายขึ้น
2.แสงสว่างภายในห้องไม่เหมาะสม
3.มีแสงสะท้อนจากจอคอมพิวเตอร์
4.การที่ตัวอักษรบนจอคอมพิวเตอร์ ไม่เรียบคมชัดเท่าตัวพิมพ์บนหน้าหนังสือ หรือมีความไม่นิ่งของสัญญาณในจอคอมพิวเตอร์ ทำให้ต้องพยายามใช้สายตาโฟกัสเพิ่มมากขึ้น จึงก่อให้เกิดอาการตาเมื่อยล้าได้ง่าย
5.ระยะห่างจากหน้าจอถึงตัวเรา
6.ระดับสายตาในการมองจอคอมพิวเตอร์
และ 7.ท่าทางในการในการนั่งทำงานที่ไม่เหมาะสม
การป้องกัน Computer Vision Syndrome (CVS)
สามารถทำได้โดยทำตาม 5 คำแนะนำ ดังนี้
1.) ปรับระดับการมองระหว่างจอคอมพิวเตอร์ แท็บเล็ต หรือสมาร์ทโฟน ปรับท่านั่งในการทำงานให้เหมาะสม
- จุดศูนย์กลางของจอคอมพิวเตอร์ควรอยู่ห่างจากตาประมาณ 20 – 28 นิ้ว
- โดยแป้นพิมพ์ควรวางอยู่ระดับต่ำกว่าจอ ให้ข้อมือและแขนขนานไปกับพื้น ข้อศอกตั้งฉาก ไม่อยู่ในลักษณะเอื้อมไปข้างหน้า
- ปรับระดับเก้าอี้ โดยให้ฝ่าเท้าวางราบไปกับพื้น เข่าตั้งฉาก ต้นขาขนานกับพื้น
- อาจมีที่วางข้อศอกและแขนเพื่อลดอาการเมื่อยล้าที่หัวไหล่ แขน และข้อมือ
- เอกสารสิ่งพิมพ์หรือหนังสือควรวางอยู่ในระดับและระยะเดียวกับจอ เพื่อจะได้ไม่ต้องขยับหรือหันศีรษะ และเปลี่ยนการปรับโฟกัสมากเกินไป
2.) ปรับแสงสว่างจากภายนอก และจากจอคอมพิวเตอร์ ควรปิดม่านหน้าต่าง เพื่อหลีกเลี่ยงไม่ให้มีแสงแดดหรือแสงสว่างจากภายนอกส่องกระทบกับจอคอมพิวเตอร์ แสงภายในห้องทำงานที่สว่างเกินไป จะก่อให้เกิดแสงสะท้อนที่จอได้ง่าย ทำให้รู้สึกไม่สบายตาได้ หรืออาจใช้แผ่นกันแสงสะท้อนติดหน้าจอภาพ ปรับความสว่างของหน้าจอและความแตกต่างของสีระหว่างพื้นจอและตัวอักษรให้มองเห็นได้คมชัดและสบายตาที่สุด
3.) พักสายตาระหว่างการทำงาน เมื่อใช้สายตาติดต่อกันเป็นระยะเวลานานกว่า 20 นาที ควรละสายตาออกจากจอคอมพิวเตอร์และมองออกไปให้ไกลประมาณ 20 วินาที ทุกๆ 2 ชั่วโมง ควรพักสายตาหรือลุกจากโต๊ะทำงานเพื่อเป็นการผ่อนคลายอย่างน้อย 15 – 20 นาที
4.) กระพริบตาบ่อยขึ้น หรืออาจหยอดน้ำตาเทียม เพื่อช่วยลดอาการตาแห้งและช่วยให้สบายตาขึ้น
5.) ควรพบจักษุแพทย์เพื่อตรวจวัดสายตา หรือความผิดปกติของดวงตาที่อาจเกิดขึ้นได้
ในคนทุกช่วงวัยอาจมีความผิดปกติทางสายตาที่แตกต่างกัน การตรวจคัดกรองดวงตาไม่เพียงช่วยให้ค้นพบความผิดปกติของดวงตาในระยะเริ่มแรก แต่ยังช่วยให้ค้นพบโรคเกี่ยวกับดวงตาในขณะที่ยังไม่แสดงอาการ หรือการเข้ารับคำปรึกษากับจักษุแพทย์ที่มีความชำนาญและประสบการณ์ จะช่วยให้เราดูแลดวงตาคู่สำคัญได้อย่างดี และช่วยให้มองเห็นโลกได้ชัดเจนไปอีกนาน
สอบถามรายละเอียดเพิ่มเติม สอบถามเพิ่มเติมได้ที่ ศูนย์จักษุกรุงเทพ โทร 02-310 3007 02-755 1007 หรือโทร. 1719
ภาพจาก https://unsplash.com