การตั้งครรภ์ การฝากไข่ วางแผนครอบครัว

การฝากไข่ – สิ่งที่ควรรู้ ใครทำได้บ้าง เหมาะกับใคร อายุเท่าไหร่ที่ต้องระวัง

Home / สุขภาพทั่วไป / การฝากไข่ – สิ่งที่ควรรู้ ใครทำได้บ้าง เหมาะกับใคร อายุเท่าไหร่ที่ต้องระวัง

ข้อมูลสุขภาพเกี่ยวกับการมีบุตร การตั้งครรภ์ ที่ ศ.นพ.กำธร พฤกษานานนท์ ประธานคณะอนุกรรมการเวชศาสตร์การเจริญพันธุ์ ราชวิทยาลัยสูตินรีแพทย์แห่งประเทศไทย ได้ให้ข้อมูลที่น่าสนใจไว้ ดังนี้

เรื่องน่ารู้เกี่ยกับ การฝากไข่

การฝากไข่ เหมาะกับใครบ้าง

การฝากไข่ จะทำใน 2 กรณีใหญ่ที่มีข้อบ่งชี้ ได้แก่

  1. คนไข้ที่จำเป็นต้องดำเนินการเก็บรักษา ความสามารถในการมีบุตรไว้ เนื่องจากต้องเข้ารับการรักษาด้วยยาหรือใช้สารเคมีที่อาจจะได้รับอันตรายต่อเซลล์ของไข่ ยกตัวอย่างเช่น คนไข้ที่ได้รับการวินิจฉัยเป็นมะเร็ง กำลังจะได้รับเคโมในการรักษา หรือคนไข้อาจจะไม่สบายในโรคต่างๆ ซึ่งจะต้องได้รับการรักษาโดยใช้สารเคมีที่รุนแรง เช่น รังสีรักษา เป็นต้น อาจจะมีการเก็บเซลล์ไข่เอาไว้เพื่อใช้ประโยชน์ในวันข้างหน้า
  2. คนที่ไม่ได้เจ็บไข้ได้ป่วย แต่ยังไม่สะดวกที่จะมีการตั้งครรภ์ในช่วงนี้ เช่น ผู้ที่ต้องไปทำงานต่างประเทศ นักศึกษาปริญญาเอกที่ต้องเรียนนานๆจนอายุมากขึ้น หรืออื่นๆ ก็อาจจะขอเก็บ ฝากไข่ไว้ก่อน จนเมื่อจบการศึกษา กลับจากต่างประเทศ หรือมีความพร้อม จึงมานำไข่ไปใช้ให้เป็นประโยชน์ เนื่องจากเป็นที่ทราบกันว่าอายุคนเรา หลังจาก 35 ปีจะมีปัญหา 2 ประการ คือจำนวนและคุณภาพของฟองไข่จะลดลง มีโอกาสตั้งครรภ์ที่เด็กจะผิดปกติมากขึ้น

ระยะเวลาที่เหมาะสมในการเก็บฝากไข่

ศ.นพ.กำธร บอกว่า ยังไม่มีรายงานชัดเจนว่าฟองไข่เก็บได้นานเท่าไหร่ ยังไม่มีการสรุปไว้ แต่โดยทั่วไปแนะนำให้เก็บไม่เกิน 5 ปี เมื่อเก็บไข่ไว้แล้วต้องการนำมาใช้ จะต้องทำเป็นเด็กหลอดแก้ว โดยเอาอสุจิสามีมาผสมเป็นตัวอ่อนก่อน หลังจากนั้นเอาตัวอ่อนคืนกลับให้คุณผู้หญิง ยกตัวอย่าง กรณีคนไข้ที่เป็นมะเร็ง หรือต้องรับการรักษาด้วยเคมีบำบัด หรือฉายแสง

เมื่อเก็บไข่แล้วก็ไปรักษาโรคมะเร็งอาจจะใช้เวลา 2-3 ปีจนหายและไม่มีความจำเป็นต้องใช้ยาเคโมอีกแล้ว ต้องการตั้งครรภ์ก็สามารถเอาไข่ของตัวเองไปผสมกับอสุจิสามีที่อาจจะแต่งงานภายหลังให้เป็นตัวอ่อนและคืนกลับเข้าสู่โพรงมดลูกได้ ซึ่งถ้าไม่ฝากไข่ไว้ก่อน หากได้เคโมหรือรังสีจะทำให้ไข่เสียหาย ไม่สามารถใช้การได้อีก

ปัจจัยของการตั้งครรภ์ – สิ่งที่ต้องระวัง

อย่างไรก็ตาม แม้จะมีการฝากไข่ไว้ แต่ปัจจัยของการตั้งครรภ์นั้น หากเป็นกรณีการฝากไข่ที่เป็นโรคมะเร็ง หรือโรคร้ายแรง จะมีปัญหาสุขภาพของตัวคุณแม่มาประกอบด้วยว่า จะแข็งแรงพอที่จะใส่ตัวอ่อนเพื่อการตั้งครรภ์หรือไม่ ตรงนี้เป็นปัจจัยที่สำคัญ ส่วนกรณีการฝากไข่เนื่องจากเหตุผลส่วนตัว ที่ไม่เกี่ยวกับการเจ็บป่วย จะไม่ค่อยมีข้อจำกัด หากสุขภาพแข็งแรงก็สามารถดำเนินการได้

อายุ 40 ปี กับการฝากไข่

ทว่า หากจะนำไข่มาใช้ในช่วงอายุที่มาก เช่น 40 ปีขึ้นไป โดยปกติเมื่อเทียบกับคนตั้งครรภ์ที่อายุน้อย คนที่มีอายุมากจะมีปัญหา เช่น เบาหวานในสตรีตั้งครรภ์ ความดันโลหิตสูง หรืออาจจะมีการตกเลือดหลังคลอดเพิ่มขึ้น จะทำให้คุณแม่มีความเสี่ยงได้ จึงเป็นการตั้งครรภ์ที่อาจจะต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ

ฝากไข่ก่อนอายุ 35 ปี ?

สำหรับคำถามที่ว่า เมื่อฝากไข่ไว้ก่อนอายุ 35 ปีแล้วอายุที่เหมาะสมในการนำไข่กลับมาสู่การตั้งครรภ์ควรเป็นเท่าไหร่ ศ.นพ.กำธร กล่าวว่า ถ้าฝากไข่ไว้อายุก่อน 35ปี แล้วเก็บไว้ราว 5 ปี ก็จะอยู่ที่อายุเกือบ 40 ปี ก็เป็นช่วงที่ยังได้อยู่ ส่วนที่เก็บไว้แล้วไปใช่ตอนอายุมากกว่า 40 ปีหรือ 50 ปี ไม่เหมาะสมและไม่ค่อยมีการทำเช่นนั้น

การเลือกเพศและเลือกลูกแฝด

ในเรื่องของการเลือกเพศและเลือกลูกแฝด ศ.นพ.กำธร กล่าวว่า การเลือกเพศหมายความว่าเอาอสุจิผสมเป็นตัวอ่อน แล้วเอาตัวอ่อนไปปัดเพื่อเอาชิ้นเนื้อไปตรวจ โดยทฤษฎีหรือโดยวิทยาศาสตร์ทำได้ แต่ในแง่ของกฎหมายและความเหมาะสมอาจจะไม่ค่อยดี เพราะมีการทำลายตัวอ่อนอยู่เหมือนกัน ซึ่งกฎหมายยังไม่อนุญาต ถ้าเป็นการเลือกเพศจากสาเหตุที่เป็นความประสงค์เพียงอย่างเดียว ไม่ใช่สาเหตุจากความจำเป็นทางการแพทย์

การเลือกแฝด ไม่อยากใช้คำนี้ แต่เป็นการที่จะใส่ตัวอ่อนเผื่อไว้ อย่างเช่น เวลาทำเด็กหลอดแก้ว อาจจะมีการใส่ตัวอ่อนเผื่อให้อีกคน แล้วบังเอิญติดทั้งคู่ก็จะเป็นแฝด ซึ่งหลักทางวิชาการมักจะมีการใส่เผื่อไว้ แต่ปัจจุบันในยุโรปตอนเหนือ ปรากฎว่าจะไม่ใส่ 2 ตัวอ่อนจะใส่เพียง 1 ตัวอ่อนเป็นหลัก ด้วยเหตุผลเพราะคิดว่าการตั้งครรภ์ที่ปลอดภัยควรเป็นการตั้งครรภ์ทีละคน

“ปัจจุบันในสังคมไทยมีการพูดถึงการฝากไข่เพิ่มมากขึ้น แต่อยากบอกว่ามีทั้งข้อดีและข้อเสีย คำว่าฝากไข่กรณีที่มีเหตุผล เช่น จำเป็นต้องเข้ารับการรักษาโรคต่างๆกรณีนี้มีประโยชน์มาก ส่วนกรณีทางสังคมต้องดูเอาว่าจริงๆเราจำเป็นหรือไม่ เพราะการฝากไข่มีค่าใช้จ่ายและมีความเสี่ยงในระดับหนึ่งด้วย จะต้องเจ็บตัวมาฉีดยา เป็นสาเหตุที่จะต้องนำมาพิจารณาด้วย

อย่างไรก็ตาม หลายครั้งคุณผู้หญิงมักคิดถึงเรื่องงานหรืออื่นมาก่อนตัวเอง จนลืมไปว่าตัวเรายังอายุเท่าเดิมตลอดกาล ทั้งที่มีงานวิจัยมากมายบอกว่าสุภาพสตรีหลังจากอายุ 35 ปีไปแล้ว หน้าที่การทำงานของรังไข่ย่อมจะน้อยลง และการฝากไข่ควรเลือกสถานพยาบาลที่ได้รับอนุญาต”ศ.นพ.กำธรแนะนำ

ข้อมูลจาก www.bangkokbiznews.com

บทความแนะนำ