เมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2562 กรุงเทพฯ ติดอันดับ 2 มลพิษทางอากาศสูงที่สุดในโลก จนถึงในปัจจุบันนี้ปัญหาของฝุ่นก็ยังไม่มีทีท่าว่าจะแก้ไขได้ ถึงแม้จะมองไม่เห็นด้วยตาเปล่าแต่ฝุ่นละอองขนาดเล็กที่มีชื่อว่า PM2.5 ก็ถือได้ว่าเป็นภัยร้ายต่อสุขภาพที่เราไม่ควรมองข้าม โดยเฉพาะคนที่เป็นโรคภูมิแพ้หรือมีสุขภาพร่างกายที่ไม่ค่อยแข็งแรงอยู่แล้ว อาจจะยิ่งทำให้มีอาการป่วยได้ ถ้าไม่มีวิธีการป้องกันฝุ่นพิษอย่างถูกวิธี และนอกจากนี้ฝุ่นพิษ PM2.5 ยังเป็นสารก่อมะเร็งตัวสำคัญที่เราควรระวังกันให้ดี
วิกฤตสุขภาพ ฝุ่นพิษ PM2.5
และในบทความนี้ แคมปัส-สตาร์ จะพาทุกคนมารู้จักกับฝุ่นพิษ PM2.5 ว่าคืออะไร มีต้นกำเนิดมาจากไหน และมีอันตรายต่อสุขภาพของเราอย่างไรกันบ้าง รวมถึงวิธีการป้องกันฝุ่นพิษอย่างง่ายที่เราสามารถทำได้
The Doctor เรื่องเล่าเรากับหมอ ตอน ฝุ่นละออง PM 2.5
Link seeme.me/ch/goodmorningthailand/Mr05v5
ฝุ่นพิษ PM2.5 เกิดขึ้นได้อย่างไร?
โดยทั่วไปแล้วฝุ่นละอองจะมีอยู่ในธรรมชาติ ไม่ว่าจเป็นในเกสรดอกไม้ ละอองดินทราย และฝุ่นที่เกิดขึ้นจากการกระทำของมนุษย์ เช่น อุตสาหกรรม การคมนาคม การเผาในที่โล่ง และโรงงานไฟฟ้าพลังงานฟอลซิล ซึ่งฝุ่นละอองที่มีขนาดใหญ่จะถูกกรองโดยขนจมูกของเรา แต่ถ้าเป็นฝุ่นพิษ PM2.5 นั้น มีขนาดเล็กเกินไปทำให้สามารถเล็ดลอดผ่านขนจมูกเข้าสู่กระแสเลือดและอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกายได้
สำหรับ PM2.5 เป็นฝุ่นที่เกิดจากแหล่งกำเนิดโดยตรงและเกิดจากการรวมตัวของก๊าซและมลพิษชนิดอื่น ๆ ในอากาศ โดยเฉพาะซัลเฟอร์ไดออกไซด์ (SO2) และออกไซด์ของไนโตรเจน (NOx) มีขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน กล่าวคือ เป็นฝุ่นมลพิษที่มีขนาดเล็กกว่า 1 ใน 25 ส่วนของเส้นผ่านศูนย์กลางของเส้นผมมนุษย์ จนสามารถเล็ดลอดขนจมูกเข้าสู่ร่างกายได้ (PM2.5 สามารถกระจายตัวเข้าสู่เส้นเลือดฝอยและอวัยวะส่วนต่าง ๆ ของร่างกายได้ในทุกส่วน)
ฝุ่นพิษ PM2.5 มีลักษณะที่ขรุขระคล้ายสำลี และยังสามารถปนเปื้อนอยู่ในชั้นบรรยากาศได้นาน เนื่องจากฝุ่นละอองขนาดใหญ่จะตกลงสู่พื้นตามแรงดึงดูดโลก แต่ฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) และฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) จะสามารถลอยอยู่ในชั้นบรรยากาศได้นานและปะปนกับมลพิษอื่น ๆ ในอากาศได้
PM.25 ภัยร้ายที่ไม่ควรมองข้าม
ทั้งนี้ไม่ว่า PM2.5 จะไปเป็นองค์ประกอบทางเคมีแบบใดก็ตามจะมีความอันตรายต่อร่างกายมนุษย์เป็นอย่างมากเลยทีเดียว เช่น ปรอท (Hg), แคดเมียม (Cd), อาร์เซนิก (As), โพลีไซคลิกอะโรมาติกไฮโดรคาร์บอน (PAHs) และสารก่อมะเร็งเป็นจำนวนมาก ฯลฯ
ดังนั้น องค์การอนามัยโลก (WHO) จึงกำหนดให้ PM2.5 จัดอยู่ในกลุ่มที่ 1 ของสารก่อมะเร็งในปี พ.ศ. 2556 และยังเป็นสาเหตุของการเกิดโรคต่าง ๆ เช่น โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง โรคหลอดเลือดในสมอง โรคหัวใจขาดเลือด โรคมะเร็งปอด และโรคติดเชื้อเฉียบพลันระบบหายใจส่วนล่าง เป็นต้น
ใครอยู่ในกลุ่มเสี่ยงบ้าง?
1. เด็ก
อยู่ในกลุ่มที่มีความเสี่ยงสูงด้วยเหตุผลหลายประการ โดยส่วนใหญ่แล้วเด็กมักจะใช้เวลาอยู่กลางแจ้งเพื่อเล่นกีฬาและทำกิจกรรรมต่าง ๆ ยิ่งอายุน้อยเท่าใด ความเสี่ยงก็จะยิ่งมีมากขึ้น เพราะทั้งปอดและระบบภูมิคุ้มกันของเด็กยังอยู่ในระยะที่กำลังพัฒนา การเผชิญหน้ากับมลพิษในอากาศจะไปขัดขวางการเจริญเติบโตของปอด และยังทำให้เด็กมีโอกาสเสี่ยงสูงในการป่วยเป็นโรคหอบหืดและโรคระบบทางเดินหายใจที่รุนแรงได้ ซึ่งโรคเหล่านี้จะกำเริบขึ้นได้อย่างง่ายดายเมื่อมีระดับมลพิษที่สูง
2. ผู้หญิงที่ตั้งครรภ์
การเผชิญกับมลพิษในอากาศจากฝุ่นละอองในระดับสูงระหว่างตั้งครรภ์ จะทำให้เรามีโอกาสในการคลอดบุตรก่อนกำหนดได้ ทำให้ทารกมีน้ำหนักตัวแรกคลอดต่ำ และยังมีความเสี่ยงที่จะเกิดการแท้งบุตรได้ อีกด้วย
3. ผู้สูงวัย/ผู้สูงอายุ
การที่ผู้สูงวัยจะต้องเผชิญกับความเสี่ยงด้านมลพิษหรืออยู่ในสถานที่ที่มีค่ามลพิษสูง จะทำให้ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายอ่อนแอและป่วยในที่สุด และถ้าผู้สูงวัยคนไหนที่ป่วยเป็นโรคหัวใจหรือระบบทางเดินหายใจก็จะยิ่งทำให้โรคกำเริบได้ง่ายขึ้นเลยทีเดียว เนื่องจากได้รับมลพิษทางอากาศเข้าไปเป็นจำนวนมาก
4. ผู้ที่มีโรคประจำตัว
ผู้ที่ป่วยเป็นโรคทางด้านปอดหรือด้านหัวใจ เช่น โรคหลอดเลือดหัวใจ ภาวะหัวใจล้มเหลว โรคหอบหืด โรคถุงลมในปอดโป่งพอง โรคปอดอุดกั้นเรื้อรัง ฯลฯ มีความเสี่ยงที่จะทำให้โรคเหล่านี้กำเริบขึ้นมาได้ เนื่องจากอนุภาคของฝุ่นละอองที่ได้สูดดมเข้าไปในร่างกาย ส่งทำให้ระบบภูมิคุ้มกันอ่อนแอลงนั่นเอง
วิธีการป้องกันตัวเองจากฝุ่นพิษ
1. ลดกิจกรรมนอกบ้าน
อันตรายที่เกิดจากฝุ่นพิษในอากาศจะเพิ่มขึ้นหากเราทำกิจกรรมนอกบ้านหรืออาคารที่ใช้กำลังมาก ตามระยะเวลาที่อยู่กลางแจ้งและระดับความรุนแรงของมลพิษ ดังนั้น เราสามารถลดอันตรายลงได้ โดยการลดระดับการใช้กำลัง เช่น เลือกที่จะเดินแทนที่จะวิ่ง ลดเวลาที่อยู่กลางแจ้ง และวางแผนเลี่ยงการทำกิจกรรมในช่วงเวลหรือพื้นที่ที่มีฝุ่นพิษสูง (ถนนที่มีการจราจรที่ติดขัด) ฯลฯ
2. อยู่ภายในอาคารเมื่อมีมลพิษสูง
เมื่อมีระดับมลพิษสูงที่สามารถส่งผลร้ายต่อสุขภาพได้ ให้เราเลือกอยู่ภายในอาคารและย้านไปทำกิจกรรมภายในอาคารแทน เช่น การออกกำลังกายให้เปลี่ยนมาออกในยิมหรือฟิตเนสแทน ฯลฯ เพื่อที่จะช่วยทำให้เราได้รับมลพิษได้น้อยลง ไม่เป็นอันตรายต่อสุขภาพ
3. ปรับปรุงสภาพอากาศภายในอาคาร/บ้าน
เราควรที่จะปิดหน้าต่างให้หมดในช่วงที่มีมลพิษสูง ปรับเครื่องปรับอากาศให้ใช้อากาศภายในอาคารหมุนเวียนแทนที่จะดึงเอาอากาศภายนอกเข้ามา เลือกใช้เครื่องฟอกอากาศที่มีเครี่องกรองอนุภาคฝุ่นละอองที่มีประสิทธิภาพสูง คอยดูแลให้บริเวณบ้านหรืออาคารปราศจากควันและหลีกเลี่ยงการใช้สิ่งที่มีการเผาไหม้ เช่น เทียน การปิ้งย่างอาหาร การเผาขยะ ฯลฯ ที่จะทำให้เกิดควันขึ้นมา
4. สวมหน้ากากอนามัย
เลือกสวมหน้ากากอนามัยป้องกันทางเดินหายใจที่เหมาะสม เพราะหน้ากากอนามัยจะช่วยป้องกันทางเดินหายใจ ช่วยกรองฝุ่นละอองหรือฝุ่นพิษได้สูงถึงร้อยละ 99 (หน้ากาก N95 กรองได้อย่างน้อยร้อยละ 95 ส่วนหน้ากาก N99 กรองได้ร้อยละ 99) แต่หน้ากากอนามัยเหล่านี้จะใช้การได้ดีก็ต่อเมื่อสวมใส่อย่างถูกวิธี (ข้อมูลเพิ่มเติม : หน้ากากอนามัย มีแบบไหนบ้าง ใช้อย่างไรให้ถูกวิธี – ใส่ยังไงให้ถูกด้าน)
สาระน่ารู้ ประเภทของมลพิษทางอากาศที่เราควรระวังเอาไว้ โดยเฉพาะคนที่มีโรคประจำตัว หรือมีภูมิคุ้มกันร่างกายต่ำ ไม่งั้นได้ป่วยเรื้อรังแน่นอน…
มลพิษในอากาศ มีอะไรบ้าง?
1. ฝุ่นละออง
เป็นมลพิษในอากาศที่เป็นปัญหาหลักในกรุงเทพฯ และชุมชนขนาดใหญ่ จากการวิจัยพบว่าฝุ่นละอองที่ก่อให้เกิดปัญหาต่อสุขภาพ เป็นฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 10 ไมครอน (PM10) และฝุ่นละอองขนาดเล็กไม่เกิน 2.5 ไมครอน (PM2.5) สามารถเข้าไปในระบบทางเดินหายใจผ่านโพรงจมูกเข้าไปถึงถุงลมในปอด ทำให้เกิดการอักเสบ การระคายเคืองเรื้อรัง หากฝุ่นละอองนั้นเกิดจากการรวมตัวของก๊าซบางชนิด เช่น ซัลเฟอร์ไดออกไซด์และออกไซด์ของไนโตรเจนเข้าไปในอนุภาคของฝุ่น โดยก่อให้เกิดการแพ้ และระคายเคืองผิวหนัง ทางเดินหายใจ และดวงตาได้
2. สารตะกั่ว
มีฤทธิ์ทำลายระบบประสาท มีผลต่อกระบวนการรับรู้ และการพัฒนาสติปัญญาของมนุษย์
3. ก๊าซคาร์บอนมอนอกไซด์
มีความสามารถในการละลายในเลือดได้ดีกว่าออกซิเจนถึง 200-250 เท่า เมื่อหายใจเอาก๊าซชนิดนี้เข้าไป จะไปแย่งจับกับฮีโมโกลบินในเลือด เกิดเป็นคาร์บอกซีฮีโมโกลบิน ทำให้ความสามารถของเลือดในการเป็นตัวนำออกซิเจนจากปอดไปยังเนื้อเยื่อต่าง ๆ ลดลง ทำให้เลือดขาดออกซิเจนไปเลี้ยงเซลล์ต่าง ๆ ในร่างกาย และหัวใจทำงานหนักขึ้น หากมนุษย์ได้รับก๊าซนี้ในปริมาณมากจะทำให้ร่างกายเกิดภาวะขาดออกซิเจน และจะเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ในที่สุด
4. ก๊าซซัลเฟอร์ไดออกไซด์
มีฤทธิ์กัดกร่อน ทำให้เกิดการระคายเคืองต่อระบบทางเดินหายใจ ผิวหนัง และเยื่อบุตา มีอาการแสบจมูก หลอดลม ผิวหนัง และตา เมื่อหายใจเอาก๊าซชนิดนี้เข้าไป จะทำให้ก๊าซละลายในของเหลวในระบบทางเดินหายใจ เกิดเป็นกรดซัลฟิวริก ซึ่งจะกัดกร่อนเยื่อบุและอวัยวะในระบบทางเดินหายใจ หากได้รับเป็นเวลานาน ๆ จะทำให้เป็นโรคจมูกและหลอดลมอักเสบเรื้อรังได้
5. ก๊าซออกไซด์ของไนโตรเจน
มีผลต่อระบบการมองเห็น และผู้ที่มีอาการหอบหืด หรือโรคเกี่ยวกับทางเดินหายใจ เมื่อหายใจเอาก๊าซชนิดนี้เข้าไป จะทำให้มีอาการกำเริบขึ้นได้ ก๊าซไนโตรเจนไดออกไซด์ในบรรยากาศ หากรวมตัวกับไอน้ำจะสามารถเกิดเป็นกรดไนตริก ซึ่งมีฤทธิ์กัดกร่อนวัสดุต่าง ๆ รวมถึงทางเดินหายใจของมนุษย์ด้วย
6. ก๊าซโอโซน
มีฤทธิ์กัดกร่อน ก่อให้เกิดการระคายเคืองตาและเยื่อบุระบบทางเดินหายใจ เกิดการอักเสบของเนื้อเยื่อจมูกและปอด ทำให้ความสามารถของปอดในการรับก๊าซออกซิเจนลดลง อาจเกิดโรคหืด โดยเฉพาะในเด็ก ละมีอาการเหนื่อยง่าย ส่วนในคนชราและคนที่เป็นโรคปอดเรื้อรัง หรือโรคหืด จะทำมีอาการหนักมากขึ้นกว่าเดิม
7. สารอินทรีย์ระเหยง่าย
มีผลโดยตรงต่อระบบทางเดินหายใจ โดยทำให้เกิดการอักเสบ และการระคายเคืองเรื้อรัง นอกจากนี้สารบางชนิดเป็นสารก่อให้เกิดการกลายพันธุ์ และเสี่ยงต่อการก่อมะเร็ง เช่น เบนซีนและไดออกซิน (มักเกิดจากการเผาขยะมูลฝอยที่มีพลาสติกปน) เป็นต้น
สามารถติดตามสถาณการณ์ มลพิษของประเทศไทย
- เว็บไซต์ กรมควบคุมมลพิษ : http://air4thai.pcd.go.th
- Facebook กรมควบคุมมลพิษ : PCD.go.th
ข้อมูลอ้างอิงจาก : www.greenpeace.org, https://generali.co.th, www.si.mahidol.ac.th