กรน การนอนหลับ นอนกรน ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ

ระวัง! ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ผลพวงจากการนอนกรน

Home / สุขภาพทั่วไป / ระวัง! ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ผลพวงจากการนอนกรน

การนอนหลับเป็นการพักผ่อนที่ดีที่สุดของมนุษย์ ถ้าพักผ่อนไม่เต็มที่อาจทำให้เกิดปัญหาสุขภาพต่างๆ ตามมามากมาย แต่หากเรานอนหลับอย่างเต็มที่แล้วยังรู้สึกเพลียหรือง่วงนอนอยู่ตลอดเวลา นั่นอาจเป็นสัญญาณบางอย่างจากร่างกายของเรา

ผลพวงจากการนอนกรน

ปัญหาส่วนใหญ่ของการนอนหลับคือ การนอนกรน ซึ่งเสียงกรนเกิดจากการที่กล้ามเนื้อบริเวณทางเดินหายใจส่วนต้นหย่อนตัวลง ทำให้ทางเดินหายใจตีบแคบ เมื่อเราหายใจเอาอากาศเข้าไปจะทำให้เนื้อเยื่อบริเวณดังกล่าวสั่นสะเทือน ทำให้เกิดเสียงขึ้นเป็นเสียงกรนนั่นเอง

ภาวะหยุดหายใจขณะหลับ ผลพวงจากการนอนกรน

ประเภทของการนอนกรน

การนอนกรนแบ่งออกเป็น 2 ประเภท ดังนี้

1. การนอนกรนแบบธรรมดา แบ่งความรุนแรงออกเป็น 3 ระดับ ดังนี้

  • ความรุนแรงระดับ 1 การนอนกรนทั่วไป เสียงไม่ดังมากและเกิดขึ้นไม่บ่อย ซึ่งการนอนกรนในระดับนี้ยังไม่ส่งผลต่อการหายใจในขณะนอนหลับ แต่อาจส่งผลกระทบต่อผู้ที่นอนร่วมกัน
  • ความรุนแรงระดับ 2 การนอนกรนที่เกิดขึ้นบ่อยหรือมากกว่า 3 วันต่อสัปดาห์ ซึ่งการนอนกรนในระดับนี้อาจส่งผลต่อการหายใจในระดับน้อยถึงปานกลางขณะนอนหลับ อาจส่งผลให้รู้สึกง่วงหรือเหนื่อยในเวลากลางวัน
  • ความรุนแรงระดับ 3 การนอนกรนทุกวันและมีเสียงดัง ซึ่งการนอนกรนในระดับนี้มักเกิดภาวะหยุดหายในขณะหลับร่วมด้วย ส่งผลให้ร่างกายได้รับออกซิเจนน้อยและไปเลี้ยงสมองไม่เพียงพอ

2. การนอนกรนแบบมีภาวะการหยุดหายใจ คือ การนอนกรนแล้วมีภาวะการหยุดหายใจร่วมด้วย โดยเกิดจากการที่ทางเดินหายใจแคบมากในขณะหลับ เพราะกล้ามเนื้อบริเวณทางเดินหายใจส่วนต้นหย่อนตัวลงอย่างมาก ทำให้อากาศไม่สามารถผ่านไปได้ ซึ่งหากมีการหยุดหายใจหลายครั้งจะส่งผลให้ระดับออกซิเจนในเลือดลดลง

ชนิดของภาวะการหยุดหายใจขณะหลับ

1.ภาวะหยุดหายใจขณะหลับชนิดอุดกั้น (Obstructive sleep apnea) เกิดขึ้นเมื่อมีบางสิ่งอุดทางเดินหายใจ อาจเกิดขึ้นจากการที่มีโครงสร้างในส่วนจมูกและช่องคอเช่นต่อมทอนซิลหรืออดีนอยด์โต ในกรณีของผู้มีน้ำหนักเกินอาจเป็นเนื้อรอบๆ คอและส่วนหลังของช่องคอมากเกินไป

2.ภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการทำงานผิดปกติของสมอง (Central sleep apnea) เกิดจากความผิดพลาดในการส่งสัญญาณของสมองเพื่อสั่งการหายใจในขณะหลับ ภาวะนี้ยังแบ่งออกเป็นสองประเภทซึ่งวัดจากระดับคาร์บอนไดออกไซด์ในกระแสเลือด คือชนิดที่ 1 มีการหายใจลดลง (decreased respiratory drive) และชนิดที่ 2 มีการหายใจเพิ่มขึ้น (increased respiratory drive) โดยถ้ามีระดับคาร์บอนไดออกไซด์ในกระแสเลือดเพิ่มขึ้น แสดงว่าเกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับชนิดที่มีการหายใจลดลงนั่นเอง

3.ภาวะหยุดหายใจขณะหลับชนิดผสม เกิดจากการอุดกั้นของทางเดินหายใจและความผิดปกติของสมองร่วมกัน อาการและการรักษาก็จะเหมือนกับชนิดที่เกิดจากการอุดกั้นทางเดินหายใจและชนิดที่เกิดจากการทำงานผิดปกติของสมอง

สาเหตุของการหยุดหายใจขณะหลับ

  • อายุ โรคนี้พบได้สูงขึ้นเมื่ออายุมากขึ้น โดยเฉพาะตั้งแต่อายุ 65 ปีขึ้นไปทั้งเพศชาย และเพศหญิง จากการเสื่อมของเซลล์ต่างๆทั้งของสมองและของทางเดินหายใจ จึงส่งผลให้ทางเดินหายใจตีบแคบลงเมื่อนอนหลับ
  • เพศ พบโรคในผู้ชายได้สูงกว่าในผู้หญิง อาจเพราะลำคอของผู้ชายหนาและสั้นกว่า เมื่อเกิดการหย่อนยานของผนังลำคอ ช่องลำคอจึงตีบแคบกว่า จึงอุดกั้นทางเดินหายใจได้มากกว่า
  • น้ำหนักตัวเกินและโรคอ้วน เพราะเกิดไขมันสะสมในผนังลำคอมากขึ้น ผนังลำคอจึงหนาและลำคอหดสั้นมากขึ้น ช่องลำคอจึงแคบลงเกิดการอุดกั้นช่องลำคอได้ง่ายขึ้น
  • ความผิดปกติของรูปร่างอวัยวะในช่องจมูกหรือช่องปากที่ทำให้เกิดทางเดินหายใจตีบแคบผิดปกติ เช่น ผนังจมูกคด ลิ้นขนาดใหญ่ มีรูปร่างและลักษณะขากรรไกรหรือเพดานปากผิดปกติ
  • โรคเรื้อรังของโพรงจมูก เช่น โรคภูมิแพ้ หรือโรคไซนัสอักเสบเรื้อรัง เพราะทำให้โพรงจมูกบวมจึงอาจไปอุดกั้นทางเดินหายใจได้
  • นอนกรน
  • การสูบบุหรี่ เพราะก่อให้เกิดการอักเสบเรื้อรังของลำคอ จึงมีเสมหะมากเหนียวข้น โดยเฉพาะช่วงนอนหลับ จึงอุดกั้นทางเดินหายใจ
  • การดื่มแอลกอฮอลล์หรือกินยาคลายเครียด/ยานอนหลับก่อนนอน เพราะเป็นสาเหตุทำให้กล้ามเนื้อลำคอหย่อนยาน ช่องลำคอจึงตีบแคบลง
  • การนั่งทั้งวันโดยไม่ได้เคลื่อนไหว อาจทำให้เกิดภาวะน้ำคั่งในบริเวณขา เมื่อนอนหลับน้ำที่คั่งเหล่านี้จะซึมกลับเข้าร่างกาย เกิดอาการบวมของทางเดินหายใจ ส่งผลให้ช่องลำคอตีบแคบได้
  • พันธุกรรม เพราะพบโรคได้สูงในคนที่มีประวัติครอบครัวที่เป็นโรคนี้

การรักษา

การรักษาทั่วไป โดยการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมการดำรงชีวิตและการนอน เช่น พฤติกรรมการกินหรือดื่มแอลกอฮอลล์ การควบคุมน้ำหนัก การฝึกนอนตะแคงแทนการนอนหงาย เป็นต้น

การรักษาเฉพาะ ด้วยเครื่อง Continuous Positive Airway Pressure (CPAP) หรือเครื่องอัดอากาศแรงดันบวกอย่างต่อเนื่อง เป็นการรักษาโดยใช้เครื่องที่มีหน้ากากสวมทับบริเวณจมูกในขณะหลับ เครื่องอัดอากาศจะเชื่อมต่อกับหน้ากากด้วยท่ออากาศ ทำให้อากาศภายใต้แรงดันจะถูกดันเข้าไปในช่องคอโดยผ่านทางจมูก แรงดันอากาศจะค่อยๆ เปิดทางเดินหายใจบริเวณช่องคอเพื่อให้การนอนและการหายใจเป็นปกติ

ประมาณ 60-70% ของผู้ป่วยที่ใช้เครื่องอัดอากาศแรงดันบวกสามารถใช้อย่างต่อเนื่องได้ แต่บางส่วนพบว่าไม่สะดวกสบายในการใช้หน้ากาก เพราะอึดอัดไม่สบายตัวขณะนอนหลับ และไม่สะดวกหากต้องเปลี่ยนสถานที่นอนชั่วคราว

การรักษาเฉพาะ ด้วยอุปกรณ์ Oral appliance หรือ ทันตอุปกรณ์ที่เลื่อนคางมาด้านหน้า อุปกรณ์ที่สามารถช่วยรักษาในผู้ป่วยบางราย ซึ่งจะช่วยเปิดทางเดินหายใจโดยการเลื่อนคางและลิ้นมาข้างหน้า หรือยกเพดานอ่อนขึ้น ผู้ป่วยที่มีความรุนแรงของโรคเล็กน้อยและปานกลางอาจจะรักษาได้ แต่ไม่สามารถรักษาในผู้ป่วยที่มีความรุนแรงของโรคในระดับมากได้  และอุปกรณ์นี้ควรทำโดยทันตแพทย์ที่มีความชำนาญเท่านั้น

การใช้ยา ในปัจจุบันยังไม่มียาสำหรับป้องกันไม่ให้ช่องคอปิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับจากการอุดกั้น แต่สามารถปรึกษาแพทย์เพื่อรักษาอาการนอนกรนเบื้องต้นโดยใช้ยาได้ เช่น ยาต้านฮีสตามีน (Antihistamine) ในการบรรเทาอาการบวมและระคายเคืองในจมูกของโรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ หรือยาแก้คัดจมูก (Nasal Decongestant) แต่ไม่ควรใช้ต่อเนื่องนานเกิน 7 วัน เป็นต้น

การผ่าตัด จะต้องเกิดจากปัญหาทางสุขภาพ เช่น ต่อมทอนซิลหรือต่อมอะดินอยด์มีขนาดใหญ่ (พบบ่อยในเด็ก) ริดสีดวงจมูก หรือเยื่อบุในจมูกบวมโต ผนังกั้นจมูกคด โครงสร้างของใบหน้า คาง หรือเพดานอ่อน เป็นต้น

ในกรณีที่ผู้ป่วยอาการรุนแรงมากถึงขึ้นเป็นอันตรายต่อชีวิต อาจต้องรักษาโดยการเจาะคอเพื่อเปิดทางเดินหายใจ เป็นการผ่าตัดเปิดช่องคอด้านหน้าเข้าสู่หลอดลมโดยตรง และใส่ท่อช่วยหายใจเพื่อให้ผู้ป่วยหายใจผ่านทางรูเปิดนี้ในระหว่างกลางคืน

การป้องกัน

หลีกเลี่ยงปัจจัยเสี่ยงที่ทำให้เกิดภาวะหยุดหายใจขณะหลับ เช่น ควบคุมน้ำหนัก ลดการกินยานอนหลับ/ยาคลายเครียดก่อนนอน ไม่สูบบุหรี่ เป็นต้น

ผลพวงจากการนอนกรน

การทำ Sleep Test คือการทดสอบการนอนหลับ (Sleep test / Polysomnography) ว่ามีภาวะหยุดหายใจขณะหลับหรือไม่ ซึ่งช่วยในการวินิจฉัยและบอกความรุนแรงของอาการกรน รวมถึงภาวะการ หยุดหายใจขณะหลับ นอกจากนี้ยังช่วยวินิจฉัยเพื่อแยกภาวะหยุดหายใจขณะหลับออกจากการนอนกรนธรรมดา อีกทั้งยังสามารถบอกคุณภาพของการนอนหลับว่าหลับได้ดีหรือไม่

ภาพห้องตรวจ Sleep Test จากโรงพยาบาลกรุงเทพ

การตรวจการนอนหลับโดยปกติจะใช้เวลาตรวจช่วงกลางคืนอย่างน้อย 6-8 ชั่วโมง ซึ่งเป็นเวลาปกติของการนอนหลับในคนทั่วไป สามารถทำได้ที่โรงพยาบาลทั้งรัฐบาลและเอกชน โดยมีค่าใช้จ่ายประมาณ 8,000 – 15,000 บาท หรือสามารถใช้บริการตรวจการนอนหลับที่บ้านแบบละเอียด (Home PSG) ค่าใช้จ่ายประมาณ 8,000 – 10,000 บาท

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก nksleepcare.co.thpobpad.comsamitivejhospitals.comhaamor.comhonestdocs.cosleepcenterchula.orgbangkokpattayahospital.comnksleepcare.co.thbangkokhospital.comnksleepcenter.com, pexels.com, pinterest.com

บทความแนะนำ