รู้มั้ยคะว่าการนอนกรนเนี่ย ไม่ใช่เรื่องเล่น ๆ เลยนะ บางคนอาจจะคิดว่าแค่ก่อให้เกิดความรำคาญกับเพื่อนร่วมห้องแค่นั้น ผิดค่ะ! คนที่นอนกรนแบบซอฟท์ ๆ ก็อาจจะไม่ได้ร้ายแรงอะไร แต่รู้หรือไม่ว่าการกรนแบบฮาร์ดคอ และมีอาการหยุดหายใจร่วมด้วยอาจทำให้หัวใจหยุดเต้นเฉียบพลันได้เลยนะ โอโห รู้แบบนี้แล้วก็ต้องรีบแก้ไขกันแล้วล่ะ วันนี้เรามีสารพัดวิธีที่จะทำให้เสียงกรนของคุณหายไปมาฝากกัน ลองทำตามกันดูนะ
วิธีดับเสียงกรน ทำตามได้ไม่ยาก
อย่าปล่อยตัวให้อ้วนเกินไป
ความอ้วนเป็นสาเหตุสำคัญที่ทำให้นอนกรน เพราะไขมันจะไปเบียดให้ทางเดินหายใจแคบลง อากาศเดินทางไม่สะดวก จนหายใจติด ๆ ขัด ๆ จนเกิดเป็นเสียงกรนที่ทำให้คนข้าง ๆ หนักอกหนักใจอยู่ทุกวันนี้ยังไงล่ะ
ออกกำลังกายซะบ้าง
การออกกำลังกายนอกจากจะช่วยให้กำจัดไขมันแล้วยังช่วยให้กล้ามเนื้อบริเวณคอหอยไม่หย่อนตัว ทางเดินหายใจของเราก็จะโล่ง หายใจได้สะดวก ยิ่งในคนอายุมากที่เนื้อเยื่อในทางเดินหายใจก็จะหย่อนยานไปตามกาลเวลา ทำให้ทางเดินหายใจแคบลงก็ยิ่งทำให้มีอาการกรนได้ง่าย
จัดท่านอนให้ดี
คนที่รู้ตัวว่าตัวเองนอนกรนขอให้เลี่ยงการนอนหงาย เพราะจะทำให้ลิ้นไปแตะเพดานอ่อน ทำให้ทางเดินหายใจตีบตัน เกิดเป็นอาการกรนได้ง่าย ๆ ลองเปลี่ยนมานอนตะแคงดูสิ แต่ถ้ากลัวว่าจะเผลอกลับไปนอนหงายอีกก็หาหมอนนิ่ม ๆ มาอิงหลังไว้ ช่วยได้แน่นอน
อย่าปล่อยให้ที่นอนสกปรก
หมั่นเปลี่ยนผ้าปู ปลอกหมอนบ่อย ๆ จะได้ไม่เป็นแหล่งสะสมของฝุ่น ไร ตัวการที่ก่อให้เกิดภูมิแพ้ และหอบหืด ยิ่งถ้าบ้านไหนมีน้องหมาน้องแมวมานอนด้วยก็ยิ่งต้องระวังเลยนะ
เคลียร์จมูกให้โล่งก่อนนอน
เช็คสักนิดก่อนจะเข้านอนว่าในจมูกของเรายังมีสิ่งไม่พึงประสงค์เกรอะกรังอยู่หรือเปล่า เพราะเมื่อจมูกของเราโล่งโปร่งสบาย เราก็จะหายใจเข้าออกได้อย่างสะดวก ไม่ต้องกรนเสียงดังไปจนถึงหน้าปากซอยอีกต่อไป
อย่าให้ร่างกายขาดน้ำ
อย่างที่รู้ ๆ กันเนอะว่าน้ำเป็นสิ่งสำคัญของร่างกายเรา และการที่ดื่มน้ำเยอะก็จะช่วยเรื่องสุขภาพหลายเรื่อง รวมถึงช่วยลดการนอนกรนได้ด้วย เพราะตอนที่เราหลับเพดานปาก และจมูกก็จะแห้งทำให้เกิดเสียงกรนได้ง่ายขึ้นไปอีก แต่ถ้าระหว่างวันเราดื่มน้ำอย่างเพียงพอก็ไม่ต้องห่วงเลยค่ะ
ถ้าไม่ไหวจริง ๆ คงต้องพึ่งหมอ
ถ้าลองทำทุกวิธีที่ได้บอกไปข้างบนแล้วก็ยังกรนอยู่ดี ขอแนะนำให้รีบไปหาหมอเพื่อปรึกษาแนวทางในการรักษาต่อไป ตั้งแต่อุปกรณ์แก้นอนกรนที่หมอจะให้มา ไปจนถึงการผ่าตัด
บทความแนะนำ
- นาฬิกาชีวิต กับภาวะซึมเศร้า – ผลการวิจัยชี้ คนนอนดึก มักมีอาการซึมเศร้า
- เช็กหน่อย เราเป็นไบโพลาร์หรือเปล่า ? พร้อมวิธีรับมือ กับอารมณ์แปรปรวนสุดขั้ว
- ผลวิจัยชี้ นอนหลับไม่พอ-อดนอน ส่งผลร้ายต่อร่างกาย มีความเสี่ยงต่อโรคหัวใจ
- 10 ข้อปฏิบัติเพื่อการนอนหลับที่ดี | ทำอย่างน้อย 4 สัปดาห์ ช่วยแก้อาการนอนไม่หลับ
- ทำไมยิ่งแก่ยิ่งหลับน้อยลง หรือหลับยากขึ้นกว่าเดิม?