เพื่อน ๆ ชาวแคมปัสฯ เคยสังเกตมั้ยคะว่า ทำไมเวลาเราจั๊กจี้ตัวเองถึงไม่รู้สึกว่ามันจั๊กจี้ เท่ากับที่คนอื่นมาจั๊กจี้เรา? เรื่องนี้มีคำอธิบายจากนักประสาทวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Linköping ในประเทศสวีเดน มาให้อ่านเป็นเกร็ดความรู้กันค่ะ
จั๊กจี้ตัวเอง กอดตัวเอง ทำไมไม่รู้สึกเท่ากับที่คนอื่นมาทำกับตัวเรา
Rebecca Böhme นักประสาทวิทยาศาสตร์จากมหาวิทยาลัย Linköping ในประเทศสวีเดน ได้อธิบายเรื่องนี้ไว้ว่า
เมื่อเราสัมผัสตัวเอง อวัยวะหลายส่วนในร่างกายจะลดกิจกรรมต่าง ๆ ที่กำลังทำอยู่ ในขณะเดียวกันการสัมผัสจากคนอื่น เป็นการทำให้สมองของเรากระตุ้นประสาทสัมผัสของเรามากกว่า
ร่างกายแยกแยะสัมผัสได้ละเอียดมากเวอร์ ว่านี่ตัวเรา หรือคนอื่น
พูดให้เข้าใจง่าย ๆ โดยสรุปคือ ร่างกายของคนเรามีการแยกแยะที่ละเอียดในเรื่องของประสาทสัมผัส สมองเรารู้ว่านี่คือสิ่งที่ตัวเราเองได้ทำกับตัวเราเอง อย่างเช่นการจั๊กจี้ ร่างกายเรารู้ค่ะว่าเรากำลังจั๊กจี้ตัวเอง ในอีกทางหากมีคนอื่นมาจั๊กจี้เราร่างกายมันก็แยกแยะได้ว่านั่นคือสัมผัสจากคนอื่น ซึ่งมันมีผลที่จะกระตุ้นประสาทสัมผัสของเราได้มากกว่า เราจึงรู้สึกจั๊กจี้กว่านั่นเองค่ะ
นอกเสียจากว่าเป็นคนที่มีปัญหาด้านการทำงานของสมอง
มีรายงานการศึกษาหลายชิ้นพบว่า ผู้ป่วยที่มีปัญหาในด้านการทำงานของสมองสามารถจั๊กจี้ตัวเองได้ เพราะ ว่าสมองไม่สามารถแยกแยะความสำคัญของการสัมผัสในแต่ละครั้งได้ นอกจากการจั๊กจี้่ ผู้ป่วยที่มีปัญหาการทำงานของสมองที่มีปัญหาเรื่องภาพหลอน ก็จะได้เห็น ได้รับรู้ คิดว่าภาพหลอนนั้นเป็นภาพที่เกิดขึ้นจริง ไม่สามารถแยกแยะออกได้ว่าอันไหนจริง อันไหนไม่จริง
การกอดตัวเองก็ไม่รู้สึกดี เท่ากับมีคนอื่นมากอดนะ
นอกจากร่างกายแยกแยะสัมผัสการจั๊กจี้ได้แล้ว แยกสัมผัสการกอดได้ด้วย เวลามีคนอื่นมากอดจะทำให้รู้สึกดี รู้สึกพิเศษ มากกว่ากอดตัวเอง รวมไปถึงการโอบไหล่ ลูบหัวด้วยนะ
เพื่อน ๆ ชาวแคมปัสฯ อย่าลืมบอกความรู้สึกดี ๆ ผ่านการกอดให้คนที่รักด้วยนะคะ เพราะจะทำให้เขารู้สึกถึงการเป็นคนพิเศษของคนที่ตัวเองรัก ^_^
ที่มา: tonic.vice.com