วัณโรค วัณโรคหลังโพรงจมูก อาการป่วย

เกร็ดความรู้ วัณโรคหลังโพรงจมูก – สาเหตุและวิธีการป้องกัน

Home / สุขภาพทั่วไป / เกร็ดความรู้ วัณโรคหลังโพรงจมูก – สาเหตุและวิธีการป้องกัน

จากกรณีของ น้ำตาล เดอะสตาร์ หรือ บุตรศรัณย์ ทองชิว ที่เสียชีวิตเมื่อวันที่ 14 มิถุนายน 2562 หลังจากมีอาการเลือดออกปากออกจมูกภายในไม่กี่วัน ซึ่งในตอนแรกยังไม่ทราบสาเหตุชัดเจน จนกระทั่งคณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาลได้ตรวจชิ้นเนื้อ และส่องกล้องเข้าไปดูบริเวณหลังโพรงจมูก จึงบ่งชี้ว่ามีเชื้อวัณโรคหลังโพรงจมูก โดยโรคนี้จากสถิติมีผู้ติดเชื้อประมาณ 1 ใน 3 ของประชากรโลก แม้จะมีโอกาสน้อยที่จะเป็น แต่ถ้าทุกคนได้ทราบถึงสาเหตุและวิธีป้องกันไว้ก่อนก็น่าจะดีกว่า

สาเหตุและวิธีการป้องกัน วัณโรคหลังโพรงจมูก

วัณโรค คืออะไร ? วัณโรค เป็นโรคติดเชื้อเรื้อรังที่เกิดจากเชื้อไมโคแบคทีเรียม ทูเบอร์ คูโลซิส (Mycobacterium tuberculosis) ติดต่อสู่คนได้โดยผ่านทางระบบหายใจ ละอองเสมหะจากการไอหรือจาม ซึ่งโดยโดยส่วนใหญ่ติดที่ปอดได้ง่ายที่สุด โอกาสน้อยที่จะเป็นหลังโพรงจมูก ความร้ายของโรคนี้คือเมื่อเป็นอาจจะไม่แสดงอาการป่วยออกมาชัดเจนในตอนแรกเพราะเชื้อมันโตช้า ต้องเป็นหนัก ๆ ถึงจะมีอาการให้เห็นชัด อีกทั้งมันยังมีคุณสมบัติพิเศษคือ ทนต่ออากาศแห้ง ความเย็น ความร้อน สารเคมี คือสามารถอยู่ในอากาศได้นาน แต่ไม่ทนทานต่อแสงแดดนะ

ส่วนใหญ่แล้วจากสถิติของประเทศไทยในปี พ.ศ. 2560 พบคนไทยเป็นวัณโรคประมาณ 80,000 คน จากประชากร 69 ล้านคน โดยร้อยละ 83 ตรวจพบที่ปอด ร้อยละ 17 ตรวจพบนอกปอด แต่ทั้งนี้วัณโรคสามารถเป็นได้ตามอวัยวะอื่นๆ ของร่างกายได้ด้วย อย่างเช่น วัณโรคหลังโพรงจมูก จริง ๆ กรณีนี้มีโอกาสพบได้น้อยมากโอกาสที่จะเกิดคือ 1 ใน 500,000 คนเลยล่ะ! 

สาเหตุของโรค

– โรคติดต่อที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรีย ไมโคแบคทีเรียม ทูเบอร์ คูโลซิส (Mycobacterium tuberculosis)

– โรคติดต่อทางการหายใจ เชื้อจะแพร่จากผู้ป่วยวัณโรคปอด ไปสู่บุคคลอื่นทางละอองเสมหะขนาดเล็ก

–  เชื้อวัณโรคสามารถแพร่กระจายการติดเชื้อไปยังอวัยวะอื่น ๆ ได้หมด รวมไปถึง โพรงจมูก แต่วัณโรคส่วนใหญ่มักเกิดที่ปอด พบประมาณร้อยละ 83 แต่เกิดที่นอกปอดก็มีประมาณร้อยละ 17

– สำหรับวัณโรคนอกปอด เป็นผลมาจากการแพร่กระจายของการติดเชื้อไปยังอวัยวะอื่นๆ ได้แก่ เยื่อหุ้มปอด ต่อมน้ำเหลือง กระดูกสันหลัง ข้อต่อ ช่องท้อง ระบบทางเดินปัสสาวะ ระบบสืบพันธุ์ ระบบประสาท โพรงจมูก เป็นต้น

อาการเสี่ยง

– ไอเรื้อรังนาน 2 สัปดาห์ขึ้นไป โดยไม่ทราบสาเหตุ (แต่ในผู้ป่วยบางรายก็อาจจะไม่มีอาการไอ)

– อาจมีอาการไอเป็นเลือด ร่วมกับอาการเจ็บหน้าอก ในผู้ป่วยวัณโรคระยะลุกลาม

– อาการอื่นๆ ที่อาจพบได้ เช่น น้ำหนักลด เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย มีไข้ เป็นต้น

– ถ้ามีอาการอย่างน้อย 2 อาการขึ้นไป ควรรีบไปหาแพทย์เพื่อตรวจให้แน่ชัด จะได้ทำการรักษาได้ถูกต้อง

การป้องกันโรค

1. ดูแลสุขภาพร่างกายให้แข็งแรงอยู่เสมอ ออกกำลังกายเป็นประจำ ทานอาหารที่มีประโยชน์ เพื่อเสริมสร้างภูมิคุ้มกันให้แข็งแรง เพราะถ้าภูมิคั้มแข็งแรง โอกาสที่โรคจะมาทำอะไรร่างกายได้ก็น้อยลง

2. หลีกเลี่ยงพื้นที่แออัด หรือที่ที่มีคนอยู่มาก ๆ หรือพื้นที่ที่มีผู้ป่วยวัณโรค ถ้าจำเป็นจริง ๆ ควรป้องกันด้วยการใส่หน้ากากอนามัย เพื่อป้องกันเชื้อโรคที่อยู่ในอากาศ

3. ตรวจสุขภาพร่างกายเป็นประจำทุกปี โดยเฉพาะปอด และเสมหะ

4. ฉีดวัคซีนป้องกันโรควัณโรค

5. เมื่อรู้ว่าร่างกายอ่อนแอ แต่จำเป็นต้องออกไปข้างนอก ควรสวมหน้ากากอนามัยทุกครั้ง หรือหากเป็นผู้ป่วยที่ต้องอยู่ในภาวะภูมิต้านทานโรคต่ำ เช่น เป็นผู้ป่วยติดเชื้อ HIV หรือกำลังรับประทานยากดภูมิคุ้มกันอยู่ ควรหลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้ป่วยวัณโรค

6. หากมีอาการผิดปกติระยะเวลาหนึ่ง เช่น น้ำหนักลดไม่ทราบสาเหตุ เบื่ออาหาร มีไข้ คลำได้ก้อนผิดปกติ ควรพบแพทย์ทันที เพื่อหาสาเหตุ

การรักษา

– วัณโรครักษาให้หายขาดได้ โดยต้องกินยาตามมาตรฐานการรักษา ให้ครบ 6 – 8 เดือน และมีพี่เลี้ยงกำกับดูแลช่วยเหลือ ให้กำลังใจผู้ป่วยในการกินยา

ที่มาจาก: thairath, หมอชาวบ้าน

บทความแนะนำ