ขณะที่ปัจจุบันเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 หรือ COVID-19 กำลังเป็นที่พูดถึงและแพร่ระบาดไปทุกทวีปทั่วโลกนั้น ในอดีตโรค “ วัณโรค ” ก็ถือเป็นโรคติดต่อในระบบทางเดินหายใจ ที่สร้างความหวาดกลัวและคร่าชีวิตของใครหลายคนเช่นเดียวกัน ซึ่งในวันที่ 24 มีนาคมของทุกปี ถูกกำหนดให้เป็นวัน “วัณโรคโลก” เพื่อสร้างการรับรู้และความเข้าใจที่ถูกต้องว่าปัจจุบัน โรควัณโรคไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิดและสามารถรักษาได้ จะจริงเท็จอย่างไรนั้น ไปติดตามพร้อมกันเลย
วัณโรค เป็นแล้วไม่เท่ากับตาย หากรักษาทันท่วงที
วัณโรคเป็นแล้วตายจริงหรือไม่
ถ้าย้อนกลับไปเมื่อสมัย 10-20 ปีก่อน ความก้าวหน้าทางวิทยาการและเทคโนโลยีทางการแพทย์นั้นยังไม่มีประสิทธิภาพเท่าที่ควร ผู้ป่วยวัณโรคไม่ได้รับการรักษาที่ทันท่วงที อีกทั้งยาในสมัยก่อนมีผลข้างเคียงค่อนข้างมาก ทำให้ผู้ป่วยกิน ๆ หยุด ๆ กินยาไม่ครบจนเกิดโรคแทรกซ้อนต่าง ๆ ตามมา เป็นสาเหตุทำให้เสียชีวิตลง
ปัจจุบันวัณโรคไม่ใช่โรคที่น่ากลัวอีกต่อไป เพราะหากผู้ป่วยได้รับการรักษาที่ทันท่วงที กินยาจนครบก็สามารถรักษาได้ แต่ก็มีโอกาสที่จะกลับมาเป็นซ้ำได้เช่นเดียวกัน โดยข้อมูลจากองค์การอนามัยโรค ได้คาดการณ์ตัวเลขของผู้ที่มีเชื้อวัณโรคอยู่ในร่างกาย พบว่ามีมากถึง 54 ล้านคนทั่วโลก แต่จะมีผู้ที่ป่วยด้วยโรคนี้อยู่แค่ประมาณ 6-7 ล้านคนเท่านั้น ซึ่งส่วนใหญ่จะเกิดขึ้นกับคนที่มีร่างกายอ่อนแอ ดังนั้นถึงแม้จะรักษาจนหายดีแล้ว แต่หากวันไหนที่ระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายทำงานตกต่ำลง โอกาสที่จะกลับมาเป็นซ้ำก็มีความเป็นไปได้สูง
วัณโรคเป็นแค่การติดเชื้อที่ปอดหรือไม่
การติดเชื้อของวัณโรคนอกจากจะติดเชื้อที่ปอดแล้ว สามารถลุกลามไปยังอวัยวะอื่นได้ ยกตัวอย่างเช่น การติดเชื้อขึ้นสมอง ต่อมน้ำเหลือง เยื่อหุ้มปอด ไขกระดูก ตับ ต่อมหมวกไต ฯลฯ ซึ่งถ้าหากการติดเชื้อลุกลามไปในอวัยวะส่วนอื่น การรักษาจะยิ่งยากขึ้น และอาจมีภาวะแทรกซ้อนมากขึ้นตามมา ซึ่งตัวเลขของการติดเชื้อที่ปอดอยู่ที่ประมาณ 70-80% ส่วนอวัยวะอื่น ๆ พบได้ประมาณ 20-30% ขึ้นอยู่กับระบบภูมิคุ้มกันของร่างกายแต่ละคนและความรุนแรงของโรคด้วย
วัณโรคที่กระจายไปยังอวัยวะอื่น ๆ จะมีอาการอย่างไร
ขึ้นอยู่กับว่าเชื้อได้กระจายไปยังอวัยวะส่วนไหน เช่น ถ้ากระจายมาที่ต่อมน้ำเหลือง จะมีอาการต่อมน้ำเหลืองโต มีก้อนอยู่บริเวณคอ ซึ่งหากดูภายนอกจะแยกไม่ออกว่าเป็นโรคมะเร็งหรือโรคอะไร ต้องใช้วิธีการตรวจชิ้นเนื้อถึงจะรู้ผล หรือถ้าเชื้อกระจายไปที่สมอง ส่วนมากจะพบในเด็กโดยจะมีอาการซึม ปวดศีรษะ ชัก แต่ถ้าพบในผู้ใหญ่จะมีอาการปวดศีรษะเรื้อรัง คอแข็ง ชักหรือกระตุก เช่นเดียวกับเด็ก
ความเชื่อที่ว่าไอ 100 วัน=วัณโรค จริงหรือไม่
ความเชื่อนี้อาจเป็นความเชื่อของคนโบราณหรือคนสมัยก่อน โดยทั่วไปแล้วคนที่มีร่างกายปกติจะไอและหายได้ภายใน 2-3 สัปดาห์ แต่คนที่เป็นวัณโรคส่วนใหญ่จะเริ่มจากมีอาการไอเรื้อรัง ซึ่งอาการไอเรื้อรังนั้นต้องมีการไอติดต่อกันนานถึง 8 สัปดาห์ขึ้นไป แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคนที่มีอาการไอเรื้อรังจะต้องเป็นวัณโรคเสมอไป เพราะต้องดูสัญญาณและอาการอื่น ๆ ควบคู่ไปด้วย เช่น น้ำหนักลด เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย มีไข้ ไอมีเลือดปน เจ็บหน้าอก หายใจขัด ฯลฯ หากใครมีอาการเหล่านี้ให้รีบมาตรวจทันทีโดยที่ไม่ต้องรอให้ครบ 100 วัน
ข้อมูลโดย ผศ. นพ.ธีระศักดิ์ แก้วอมตวงศ์ สาขาวิชาโรคระบบการหายใจและเวชบำบัดวิกฤต ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์โรงพยาบาลรามาธิบดี มหาวิทยาลัยมหิดล