ตุ่ม ผิวหนัง โรคตุ่มน้ำพอง

โรคตุ่มน้ำพอง – การดูแลและปฏิบัติตัวของผู้ป่วยในเบื้องต้น

Home / สุขภาพทั่วไป / โรคตุ่มน้ำพอง – การดูแลและปฏิบัติตัวของผู้ป่วยในเบื้องต้น

โรคตุ่มน้ำพอง เป็นโรคที่เกิดจากความผิดปกติของระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทำให้ผิวหนังเกิดการแยกตัว ทำให้เกิดเป็นตุ่มน้ำพองใสๆ ขนาดต่างๆ อาจมีปัจจัยพื้นฐานสิ่งแวดล้อมเป็นตัวกระตุ้น ผู้ป่วยที่เป็นโรคมักมีอายุประมาณ 50-60 ปี แต่ก็สามารถพบโรคนี้ได้ทุกวัย ทั้งชายและหญิง โรคนี้เกิดขึ้น 1 ใน 4 แสนคน ทั้งนี้โรคนี้ไม่ใช่โรคติดต่อ ถึงแม้จะเป็นเรื้อรัง แต่สามารถรักษาให้หายได้ เมื่อรับการรักษาอย่างต่อเนื่อง รับประทานยาตามที่แพทย์สั่งโดยเคร่งครัด ไม่ควรหยุดยาหรือลดยาเอง

โรคตุ่มน้ำพอง ที่เกิดจากภูมิคุ้มกัน

ลักษณะอาการของโรค คือ เป็นตุ่มพองที่ผิวหนังหรืออาจมีตุ่มพองที่บริเวณเยื่อบุต่าง ๆ ร่วมด้วย ตุ่มน้ำอาจมีขนาดต่าง ๆ กัน เมื่อตุ่มน้ำแตกจะเกิดแผลถลอกหรือเป็นสะเก็ด ทำให้มีอาการเจ็บปวดแสบมาก ตำแหน่งที่พบบ่อย คือ ศีรษะ หน้าอก หน้าท้อง และบริเวณที่ผิวหนังเสียดสีกัน

นอกจากนั้นยังมีอาการแผลในปาก เป็นแผลถลอกที่เหงือก เพดานปาก หรือกระพุ้งแก้ม เมื่อเกิดตุ่มน้ำพองหรือแผลในปาก จะทำให้กลืนอาหารไม่สะดวก ส่วนผิวหนังที่เป็นแผล อาจเกิดการติดเชื้อแบคทีเรียเป็นหนองได้ ถ้าเชื้อโรคเข้าสู่กระแสเลือดอาจทำให้มีไข้

ตัวอย่างของโรคเหล่านี้ เพมฟิกัส (pemphigus) : โรคเพมฟิกอยด์ : โรคตุ่มน้ำพอง CBDC

ลักษณะตุ่มน้ำพองที่แตกง่าย โรคตุ่มน้ำพอง

เพมฟิกัส (pemphigus) : ลักษณะตุ่มน้ำพองที่แตกง่าย ทำให้เกิดเป็นแผลถลอก สะเก็ดน้ำเหลือง

โรคกลุ่มนี้เป็นโรคเรื้อรังที่มีความรุนแรงต่างกัน อาจมีอาการโรคกำเริบและสงบสลับกันไป ผู้ป่วยบางรายอาจเข้าสู่ระยะโรคสงบหลังได้รับการรักษา 3-5 ปี แต่มีผู้ป่วยบางรายจำเป็นต้องได้รับการรักษาต่อเนื่องเป็นเวลานาน และอาจเสียชีวิตจากความรุนแรงของโรค หรือภาวะแทรกซ้อนจากการได้รับยารักษาโรค โรคเพมฟิกอยด์จะมีการพยากรณ์โรคที่ดีกว่า และควบคุมโรคได้ง่ายกว่าเพมฟิกัส

| ข้อมูลเพิ่มเติมแบบละเอียด >> โรคตุ่มน้ำพอง ที่เกิดจากภูมิคุ้มกัน โดยสมาคมแพทย์ผิวหนังแห่งประเทศไทย www.dst.or.th

. . . . .

คำแนะนำในการดูแลโรคเบื้องต้น ด้วยตนเอง

1. ควรไปพบแพทย์สม่ำเสมอ ไม่ควรหยุดยา หรือปรับลดยาเอง

2. ควรทำความสะอาดร่างกายอย่างสม่ำเสมอ บริเวณที่เป็นแผลใช้น้ำเกลือ (normal saline) ทำความสะอาดแผล และอมบ้วนปาก และใช้แปรงขนอ่อนทำความสะอาดลิ้นและฟัน ไม่แกะเกาผื่นแผล ไม่ควรใช้ยาพ่นหรือพอกยา เพราะจะทำให้ติดเชื้อได้ง่าย

3. ผู้ป่วยมีภาวะภูมิต้านทานต่ำ จากการได้รับยากดภูมิคุ้มกันของร่างกาย ทำให้ติดเชื้อง่าย จึงควรหลีกเลี่ยงการใกล้ชิดกับผู้ป่วยที่เป็นโรคติดเชื้อ ไม่ไปในสถานที่แออัด

4. หลีกเลี่ยงสิ่งที่ระคายเคืองต่อผิวหนังง่าย เช่น เสื้อผ้าที่รัด ความร้อน

5. ออกกำลังกายสม่ำเสมอ พักผ่อนให้เพียงพอ รับประทานอาหารที่สุกสะอาด อาหารอ่อนย่อยง่ายรสไม่จัด ผลไม้ควรปอกเปลือกก่อนรับประทาน เลี่ยงอาหารรสจัด

6. การได้รับยากดภูมิต้านทาน อาจมีผลกระทบต่อโรคประจำตัวได้ เช่น โรคเบาหวาน ความดันโลหิตสูง ควรได้รับการรักษาควบคู่กันไป นอกจากนี้หากมีอาการปวดท้องอุจจาระดำ อาเจียนเป็นเลือด ควรแจ้งให้แพทย์ทราบ

7. ในช่วงที่โรคยังไม่สงบ ไม่ควรตั้งครรภ์ เนื่องจากยาที่ใช้ควบคุมโรคอาจมีผลต่อทารกในครรภ์ ถึงแม้ว่าโรคสงบแล้ว ถ้าจะตั้งครรภ์ควรปรึกษาแพทย์ก่อน เพราะแพทย์อาจจะยังให้ยาบางชนิดเพื่อควบคุมโรคไม่ให้กำเริบ ซึ่งอาจมีผลต่อทารกในครรภ์ได้เช่นกัน

ผู้ป่วยที่ได้รับยาเพรดนิโซโลน ถ้ามีอาการปวดท้องอุจจาระดำ หรืออาเจียนเป็นเลือดควรแจ้งให้แพทย์ทราบ

Normal saline น้ำเกลือ

การปฏิบัติตัวของผู้ป่วยทีมีตุ่มน้ำแตกเป็นแผลในปาก

  • ใช้น้ำเกลือ (Normal saline) อมกลั้วปากบ่อย ๆ หรือทุกครั้งหลังรับประทานอาหาร
  • หลีกเลี่ยงการใช้น้ำยาบ้วนปาก ยาฆ่าเชื้อที่เข้มข้น
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารรสจัด โดยเฉพาะอาหารเผ็ด หรือเปรี้ยว จะทำให้แสบหรือเจ็บแผลมากขึ้น

ผู้ป่วยที่มีผื่นที่ผิวหนัง ควรปฏิบัติดังนี้

  • หลีกเลี่ยงการประคบหรือพอกแผล ด้วยสมุนไพร ผงหรือยาใดที่แพทย์ไม่ได้เป็นผู้สั่ง
  • ถ้าต้องการทำความสะอาดแผล ควรใช้น้ำเกลือ (Normal saline) เช็ดเบา ๆ อาจใช้ยาทา เช่น ยาครีมฆ่าเชื้อ ไม่ควรปิดแผลบ่อย ๆ เพราะจะทำให้ผิวหนังหลุดถลอก
  • หลีกเลี่ยงการรับประทานอาหารรสจัด โดยเฉพาะอาหารเผ็ด หรือเปรี้ยว จะทำให้แสบหรือเจ็บแผลมากขึ้น

อ่านวิธีการรักษา เพิ่มเติมได้ที่ : www.si.mahidol.ac.th

ข้อมูลโดย ภาควิชาตจวิทยา Faculty of Medicine Siriraj Hospital คณะแพทยศาสตร์ศิริราชพยาบาล

บทความแนะนำ