ทีมวิจัยของสำนักงานอาหารและยา (เอฟดีเอ) ของสหรัฐอเมริกา เผยแพร่ผลงานวิจัยใหม่ออกมาในวารสารวิชาการด้านจักษุวิทยา “จามา ออฟธัลโมโลจี” เมื่อวันที่ 23 พฤศจิกายนที่ผ่านมา ระบุว่าผู้ที่เข้ารับการผ่าตัดด้วยแสงเลเซอร์เพื่อปรับแก้การมองเห็นหรือที่เรียกกันว่าทำ “เลสิก” อาจเจอกับผลข้างเคียงที่เป็นปัญหาในการมองเห็นในรูปแบบใหม่สูงถึงกว่า 40 เปอร์เซ็นต์ของกลุ่มตัวอย่างที่สำรวจทั้งหมด ซึ่งถือว่าเป็นสัดส่วนที่มีนัยสำคัญในเชิงสถิติ
การทำเลสิกอาจเจอผลข้างเคียง
งานวิจัยใหม่นี้พบว่า อาการมีปัญหาในการมองเห็นแบบใหม่ที่เป็นผลข้างเคียงจากการผ่าตัดนั้นจะเกิดขึ้นในราว 3 เดือนหลังการผ่าตัด อาทิ การมองเห็นแสงจ้า หรือการมองเห็นรัศมีหรือฮาโลรอบวัตถุที่มอง และการเห็นภาพซ้อนหลังจากการทำเลสิก ซึ่งเป็นกระบวนการที่แพทย์ใช้วิธีการเปิดช่องขนาดเล็กขึ้นบริเวณกระจกตา (คอร์เนีย) ที่เป็นด้านนอกสุดของลูกตา จากนั้นใช้ลำแสงเลเซอร์เพื่อตัดแต่งเนื้อเยื่อคอร์เนียเพื่อปรับรูปร่างของคอร์เนียให้เหมาะสม โดยมีเป้าหมายเพื่อปรับปรุงความสามารถในการมองเห็นของผู้เข้ารับการผ่าตัด
การวิจัย
ในการทำวิจัยครั้งนี้ ทีมวิจัยใช้วิธีการทำแบบสำรวจติดตามกลุ่มตัวอย่าง ของผู้ที่เข้ารับการผ่าตัดเพื่อทำเลสิก 2 กลุ่มต่อเนื่องเป็นเวลา 6 เดือนหลังจากเข้ารับการผ่าตัดแล้ว โดยกลุ่มแรกเป็นทหารในสังกัดกองทัพเรือที่อยู่ระหว่างประจำการ 262 นาย อายุเฉลี่ย 29 ปี กลุ่มที่สองเป็นพลเรือนทั่วไปที่เข้ารับการผ่าตัดทำเลสิกมา 312 คน อายุเฉลี่ย 32 ปี โดยกลุ่มตัวอย่างในการวิจัยต้องกรอกแบบสอบถามผ่านเว็บไซต์เกี่ยวกับสภาพการมองเห็นของตนเองทั้งก่อนและหลังเข้ารับการผ่าตัด แบบสอบถามดังกล่าวถามคำถามเกี่ยวกับความพึงพอใจที่ได้รับจากการผ่าตัด และสอบถามด้วยว่าเกิดปัญหาด้านการมองเห็นในรูปแบบหนึ่งรูปแบบใดขึ้นมาหลังการผ่าตัดหรือไม่ ซึ่งมีทั้งการมองเห็นรัศมีรอบวัตถุ, การมองเห็นจุดสว่างวาบ, การมองเห็นแสงจ้า และการมองภาพเห็นเป็นภาพซ้อนกัน
โดยทั่วไปแล้ว ทีมวิจัยพบว่า กลุ่มตัวอย่างส่วนใหญ่ลงความเห็นว่า การมองเห็นของตนดีขึ้นจริงหลังการผ่าตัด มีเพียง 1 เปอร์เซ็นต์ของกลุ่มทหารเรือ กับ 4 เปอร์เซ็นต์ของกลุ่มพลเรือนเท่านั้นที่บอกว่าไม่พอใจผลการผ่าตัดอยู่บ้าง อย่างไรก็ตาม 43 เปอร์เซ็นต์ของกลุ่มตัวอย่างที่เป็นทหารเรือ กับ 46 เปอร์เซ็นต์ของกลุ่มตัวอย่างที่เป็นพลเรือน ระบุว่าเกิดอาการทางการมองเห็นแบบใหม่ขึ้น ส่วนใหญ่จะเป็นการมองเห็นภาพซ้อน, การมองเห็นแสงจ้า ต่อด้วยการเห็นรัศมีรอบวัตถุ และการเห็นแสงวูบวาบ ซึ่งจะเกิดขึ้น 3 เดือนหลังการผ่าตัดแล้วเสร็จ
นายแพทย์มาร์ก ฟรอมเมอร์ จักษุแพทย์ประจำโรงพยาบาลเลนอกซ์ ฮิลล์ ในนครนิวยอร์ก ซึ่งไม่ได้มีส่วนเกี่ยวข้องกับงานวิจัยให้ความเห็นว่า ผลวิจัยครั้งนี้ตอกย้ำอีกครั้งว่า ไม่มีการผ่าตัดใดๆ ที่สมบูรณ์แบบทั้งหมด
ซึ่งทำให้ความสำคัญของการเตือนให้ผู้ที่เข้ารับการรักษาได้รับรู้ถึงความเสี่ยงและผลข้างเคียงที่จะเกิดขึ้นโดยถี่ถ้วนมีมากขึ้นไปอีก ก่อนที่จะตัดสินใจว่าจะทำเลสิกหรือไม่
ที่มา http://www.matichon.co.th/news/379909