อาการสมาธิสั้น ทุกคนอาจจะคิดว่าเกิดได้ในเฉพาะในเด็กเท่านั้น แต่ในความเป็นจริงแล้วในวัยรุ่น วัยหนุ่มสาว หรือผู้ใหญ่ ก็สามารถเป็นได้ แล้วเราจะรู้ได้ยังไงว่าอาการไหนบ้างที่เป็นอาการของคนสมาธิสั้น ลองมาเช็คกันได้เลย พร้อมมีวิธีแก้ไขอาการสมาธิสั้นเพื่อสุขภาพที่ดีขึ้นของเรามาฝากกันอีกด้วย
ลักษณะอาการ คนที่เป็นโรคสมาธิสั้น
ตอนเด็กๆ มีพฤติกรรมที่ซน ไม่ชอบอยู่นิ่งๆ เลย ไม่ตั้งใจเรียน เรียนหนังสือได้ไม่ดี โมโหง่าย วอกแวก ฯลฯ ซึ่งถ้าใครที่มีอาการแบบนี้ตั้งแต่ยังเด็กและไม่ได้รับการรักษาอย่างถูกวิธี โตขึ้นมาก็ยังคงมีอาการเหล่านี้อยู่ แต่ก็ไม่ได้มากเท่ากับตอนเด็กๆ แต่อาการที่เราจะเห็นได้ชัดจากวัยรุ่น วัยหนุ่มสาว หรือวัยผู้ใหญ่ คืออาการทางพฤติกรรมและอารมณ์ ได้แก่
1.ใจร้อน โผงผาง
2.อารมณ์ขึ้นลงเร็ว โกรธง่าย หายเร็ว มักมีเรื่องรุนแรงกับบุคคลที่ตนไม่พอใจ
3.หุนหัน พลันแล่น ขาดความยับยั้งชั่งใจ ไม่คิดก่อนทำ ทำตามใจชอบ
4.ทนกับความเครียดหรือสิ่งที่ทำให้คับข้องใจได้น้อย
5.วอกแวกง่าย ไม่ค่อยมีสมาธิระหว่างการเรียนขั้นอาชีวศึกษาหรือขั้นอุดมศึกษาหรือในการทำงาน
6.รอคอยอะไรนานๆ ไม่ค่อยได้
7.มักจะทำงานหลายๆ ชิ้นในเวลาเดียวกัน แต่มักจะทำไม่สำเร็จแม้แต่ชิ้นเดียว
8.ไม่รู้จักแบ่งเวลา ขาดความสามารถในการบริหารจัดการเวลาที่ดี
9.ชอบผลัดวันประกันพรุ่ง
10.นั่งอยู่นิ่งๆ ไม่ได้นาน ชอบเขย่าขาหรือลุกเดินบ่อยๆ หรือพูดโทรศัพท์มือถือ
11.เบื่อง่าย หรือต้องการสิ่งเร้าอยู่เสมอ
12.ไม่มีระเบียบ ห้องหรือบ้านรกรุงรัง
วิธีจัดการอาการสมาธิสั้น
ฝึกการสนใจในสิ่งใดสิ่งหนึ่ง โดยการกำหนดระยะเวลา ควรจัดให้มี “ตารางเวลา” ในการฝึกทำในแต่ละครั้ง
ใช้ดนตรีในการช่วยบำบัดอาการสมาธิสั้น
ฝึกคิด จินตนาการในเรื่องต่างๆ
การนั่งสมาธิ อาจจะใช้เวลาแค่สั้นๆ 3- 5 นาที ก่อนนอน ฝึกกำหนดลมหายใจ ก็จะช่วยให้เรานิ่งขึ้น
ปัญหาการเรียน เด็กวัยรุ่นที่มีอาการสมาธิสั้น เขาไม่ได้ขาดความสามารถ แต่มีปัญหาการทำงานทางด้านการเรียน ทำได้ไม่เสร็จ ไม่รอบคอบ จึงทำให้ไม่ถูกต้อง จึงเกิดปัญหาเพราะฉะนั้นพ่อ-แม่และครูจึงต้องช่วยกัน เพื่อทำให้เขาเข้าใจกระบวนการเรียนรู้และหาวิธีมอบหมายงานให้เหมาะสมกับตัวเด็ก
เด็กที่มีปัญหาด้านความสนใจ ไม่สามารถกลั่นกรองสิ่งเร้าได้ จึงทำให้แยกไม่ออกว่า ควรสนใจอะไร ควรทำอะไร และควรทำอย่างไร งานจึงจะเสร็จ จึงต้องหาวิธีการทำให้เขาสนใจในสิ่งที่กำลังทำอยู่ให้ได้
เด็กที่มีปัญหาด้านความจำ การเก็บข้อมูล ประมวลและแปลข้อมูลมีปัญหา สิ่งเหล่านี้เป็นเรื่องยากสำหรับเด็ก ได้เห็น ได้ยิน ได้อ่านหรือได้เขียนอะไร จะจำได้บ้าง ไม่ได้บ้าง หรือประมวลหรือจับประเด็นได้ลำบาก นั่นก็คือปัญหาการคิดรวบยอด ฉะนั้นจะต้องช่วยด้วยการเพิ่มเวลาทำงานหรือลดหย่อนการทำงาน โดยแบ่งงานเป็นตอนสั้นๆ หรือขีดเส้นใต้ตอนที่สำคัญให้กับเขา
เด็กมีปัญหาการทำข้อสอบ เพราะมีข้อบกพร่องในการดึงข้อมูลหรือดึงได้ช้า จึงทำให้ผลการสอบไม่ดี เกือบได้เกือบตกเสมอ จึงเป็นเรื่องจำเป็นในการเพิ่มเวลาสอบ ต้องขอความช่วยเหลือจากคุณครูให้เพิ่มเวลาสอบให้สำหรับเด็กสมาธิสั้น
ปัญหาการขาดความภาคภูมิใจในตนเอง เพราะเด็กๆ ต้องผจญกับการถูกผู้ใกล้ชิดรอบตัว ตี ดุ ด่า ว่ากล่าวและตำหนิ เป็นระยะเวลาที่ยาวนาน ดังนั้นผู้ใกล้ชิดรอบตัวจึงต้องปรับพฤติกรรมตนเอง มิให้โกรธและโมโหหรือรำคาญเด็ก ต้องให้กำลังใจ และมีทัศนคติเชิงบวกกับเด็ก
ค้นหาความสามารถด้านอื่นของเด็กและให้ความสนับสนุน ให้ประสบความสำเร็จอย่างเต็มที่ ขอให้จำไว้ว่า “ช่วยเหลือมิใช่แก้ไข้”
ปัญหาการคบเพื่อน เด็กวัยรุ่นทั่วไป มักติดเพื่อนและเห็นความสำคัญของเพื่อน แต่เด็กสมาธิสั้นจะรู้สึก “แปลกแยก” เพราะไม่มึใครอยากคบ แม้แต่พ่อแม่ของเพื่อนก็จะพากันห้ามปรามลูกของตน ไม่ให้คบ แต่ละคนล้วนแต่แสดงอาการ “รังเกียจและดูถูกเหยียดหยาม” เป็นประจำ จึงมักจะหันไปคบเพื่อนที่มีปัญหา พากันทำในสิ่งที่ไม่สมควรทำ เช่น เสพยา ทะเลาะวิวาท ฯลฯ เพราะฉะนั้นพ่อแม่จะต้องช่วยเหลือลูก โดยการช่วยสร้างเพื่อนให้ลูก ชักชวนเพื่อนลูกมาเที่ยวบ้าน ร่วมกิจกรรมด้วยกันเป็นประจำ ไม่ตำหนิเพื่อนให้ลูกฟัง สอนทักษะการแยกแยะคนจากการดูพฤติกรรมโดยยึดหลักธรรมะตามข้างต้นเป็นประจำ และไม่ตำหนิบุคคลใดหรือแม้แต่ตัวลูก ควรพูดถึงพฤติกรรมที่ไม่ถูกต้องเท่านั้น
————————————————
ข้อมูลและภาพ :
questofthekeys.com . www.ku.ac.th , www.adhdthai.com