นอนกัดฟัน (Bruxism) เป็นสิ่งที่เรามักจะยินกันอยู่บ่อย ๆ หรือบางคนก็กำลังเผชิญอยู่กับปัญหาการนอนกัดฟันโดยไม่รู้ตัวก็อาจจะเป็นได้ ซึ่งหมายถึงการบดฟัน (Tooth Grinding) และการขบฟัน (Tooth Clenching) เกิดขึ้นเมื่อฟันมีการกระทบกันอย่างรุนแรง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในขณะที่เรากำลังนอนหลับอยู่ ซึ่งจะส่งผลเสียต่อสุขภาพช่องปากทั้งโดยตรงและทางอ้อมเป็นอย่างมากเลยทีเดียว และรู้กันหรือไม่ว่าจริง ๆ แล้ว สาเหตุที่ทำให้เกิดอาการนอนกัดฟันในขณะนอนหลับเกิดขึ้นได้อย่างไร และจะมีวิธีในการแก้ไขอย่างไร
อาการนอนกัดฟัน ที่คุณไม่ควรมองข้าม
คุณกำลัง นอนกัดฟัน อยู่หรือเปล่า?
บทความนี้ แคมปัส-สตาร์ ได้รวบรวมคำตอบที่น่ารู้เกี่ยวกับเรื่องนี้มาบอกกันแล้ว ถ้าพร้อมแล้วไปดูกันเลย สำหรับใครที่มีอาการนี้อยู่ก็สามารถนำวิธีการแก้ไขไปลองใช้กันได้เลยนะ แต่ใครที่ไม่รู้ตัวว่ากำลังประสบปัญหาการนอนกัดฟันหรือไม่ก็สามารถลองสังเกตตัวในเวลาตื่นนอนได้เลย
สาเหตุของการเกิดอาการนอนกัดฟัน
1. เกิดจากความเครียด ความกังวล และความโกรธ
2. การสบฟันผิดปกติ หรือฟันกับขากรรไกรไม่เรียงตัวกันอย่างเหมาะสม
3. อาการของโรคทางประสาท และกล้ามเนื้อบริเวณใบหน้าเกิดความผิดปกติ
4. ผลข้างเคียงจากการทานยาบางชนิด เช่น ยารักษาโรคซึมเศร้า, ยารักษาอาการทางจิต ฯลฯ
5. อาการแทรกซ้อนของโรคฮันติงตันหรือพาร์กินสันส์ (โรคที่เกิดจากความผิดปกติของการเสื่อมของระบบประสาทส่วนกลาง)
6. เกิดจากภาวะการหยุดหายใจขณะนอนหลับ (Sleep Apnea)
7. การดื่มเหล้าหรือคาเฟอีน, สูบบุหรี่ ก็เป็นสาเหตุที่ทำให้เรานอนกัดฟันได้เช่นกัน
8. เกิดจากอาการเหนื่อยล้าจากทำงานหนักหรือพักผ่อนไม่เพียงพอ
สัญญาณและอาการที่สังเกตได้
1. กล้ามเนื้อขากรรไกรหดรัดตัวเป็นจังหวะ
2. ได้ยินเสียงกัดฟันในตอนกลางคืน ซึ่งอาจรบกวนการนอนหลับของคนที่นอนห้องเดียวกับคุณ
3. กล้ามเนื้อขากรรไกรปวดและตึง
4. ได้ยินเสียงข้อต่อขากรรไกรดังคลิกหรือดังเปาะ
5. ปวดบริเวณใบหน้าติดต่อกันเป็นเวลานาน
6. ฟันเสียหาย ฟันบิ่น ฟันร้าว หรือทำให้สูญเสียฟันได้ วัสดุอุดฟันแตกหัก และเหงือกเป็นแผล
7. ปวดหัวอยู่บ่อย ๆ
8. ขากรรไกรล่างบริเวณด้านข้างบวม (บางครั้ง) เนื่องจากนอนกัดฟัน
9. เกิดอาการเสียวฟันอยู่บ่อย ๆ
10. เกิดความเจ็บปวดคล้าย ๆ กับอาการเจ็บหู แต่ไม่ได้เกิดความผิดปกติกับหู
11. เกิดรอยบุ๋มบริเวณลิ้น
12. รู้สึกว่าตนเองอ้าปากได้ลำบาก
13. มีอาการเมื่อยหรือยึดบริเวณไหล่ โดยไม่ทราบสาเหตุ
14. ขากรรไกรล็อค ไม่สามารถเปิดหรือปิดได้อย่างเต็มที่
ผลกระทบต่อสุขภาพช่องปาก
1. เมื่อเกิดอาการฟันแตกหรือฟันร้าว เราก็จะต้องทำสะพานฟันหรือการใส่รากฟันใหม่ เพื่อช่วยผยุงฟันไม่ให้ล้ม
2. อาจเกิดอาการเสียวฟันได้
3. เกิดอาการปวดหัว
4. มีอาการเมื่อยล้าทั่วทั้งใบหน้า โดยไม่ทราบสาเหตุ
5. สารเคลือบฟันผุหรือแม้แต่เนื้อฟันอาจผุกร่อนได้
6. อาจเกิดอาการปวดฟันหรือฟันโยกได้
7. เกิดอาการปวดบริเวณใบหน้าอันเกิดจากกล้ามเนื้อขากรรไกรที่ขบเข้าหากัน
8. มีอาการเจ็บที่ข้อต่อขากรรไกร (ที่กระดูกขากรรไกรทั้งสองข้างตรงบริเวณปาก)
วิธีการแก้ไข/รักษาอาการ
1. การเลือกใช้เฝือกสบฟันหรือฟันยาง ที่ถูกออกแบบมาเพื่อป้องกันไม่ให้ฟันถูกทำลายจากการบดเคี้ยวและการขบเน้นฟัน
2. การจัดฟันหรือแก้ไขทางทันตกรรม การแก้ไขฟันที่มีปัญหาให้เรียงตัวกันอย่างเหมาะสม จะช่วยแก้ปัญหาการนอนกัดฟันได้ ในรายที่มีอาการรุนแรง มีฟันที่เสื่อมสภาพและทำให้เกิดอาการเสียวฟันหรือทำให้การบดเคี้ยวมีปัญหา อาจจะต้องมีการปรับแต่งพื้นผิวฟันที่ใช้การบดเคี้ยวหรือต้องทำการจัดฟัน
3. การจัดการกับความเครียดก็เป็นอีกหนึ่งวิธีที่จะช่วยทำให้อาการนอนกัดฟันของเราหายไปได้ เช่น การออกกำลังกาย การนั่งสมาธิ เป็นต้น
4. ผู้ที่มีอาการนอนกัดฟันควรหลีกเลี่ยงการกินอาหารจำพวกช็อกโกแลต และเครื่องที่ผสมคาเฟอีนและแอลกอฮอล์ นอกจากนี้ก็ควรที่จะต้องหลีกเลี่ยงการบดเคี้ยวอาหารแข็ง ๆ อีกด้วย
5. สำหรับบางคนที่มีอาการหนักมาก ๆ ก็ควรที่จะต้องไปพบแพทย์เพื่อทำการรักษา ซึ่งคุณหมอก็จะใช้ยาในการรักษา เช่น ยาคลายกล้ามเนื้อ ซึ่งเราจะต้องกินก่อนนอนเพื่อลดอาการนอนกัดฟัน หรือถ้าใครที่มีอาการรุนแรงมาก ๆ คุณหมอก็จำเป็นที่จะต้องทำการฉีดโบทอกซ์ (OnabotulinumtoxinA: Botox) ให้เพื่อเป็นการช่วยทำให้ผู้ที่มีอาการนอนกัดฟันมีอาการน้อยลง (สำหรับยาฉีดตัวนี้จะใช้กับเฉพาะผู้ป่วยที่ไม่ตอบสนองต่อการรักษาด้วยยากินแล้วเท่านั้น)
Written by : Toey
ข้อมูลจาก : www.colgate.com, www.pobpad.com