เข้าสู่ช่วงฤดูหนาว หรือหน้าหนาวทีไร ก็เห็นผู้คนรอบข้างป่วยกันทุกครั้งเลย ไม่ว่าจะเป็นไข้หวัดธรรมดา ไข้หวัดใหญ่ ไข้หัด โรคอุจจาระร่วง และโรคปอดบวม ซึ่งในแต่ละปีก็มีผู้คนป่วยเพิ่มมากขึ้นเรื่อยๆ บางคนนี่เรียกได้ว่าถึงหน้าหนาวทีไรก็ป่วยทุกครั้งไปเลย ในบทความนี้ แคมปัส-สตาร์ มีเคล็ดลับการดูแลสุขภาพในช่วงหน้าหนาวมาฝากกันด้วย
5 โรคควรระวัง ในช่วงฤดูหนาว
ถ้าพร้อมแล้วไปดูกันเลยว่า 5 โรคอันตรายที่ผู้คนมักจะเป็นบ่อยในช่วงหน้าหนาวมีโรคอะไรกันบ้าง พร้อมอาการเริ่มแรกของการป่วยและวิธีการรักษาตัวอย่างไรให้ห่างไกลจากโรคเหล่านี้…
1. ไข้หวัด
โรคไข้หวัดถือว่าเป็นโรคที่ใครๆ ก็สามารถเป็นได้แทบทุกฤดูกาล แต่สำหรับในในฤดูหนาวหรือหน้าหนาวจะเป็นได้ง่ายและบ่อยมากยิ่งขึ้น ถึง 2 เท่าด้วยกัน ซึ่งเวลาที่เราป่วยเป็นไข้หวัดในช่วงฤดูหนาวนี้ไม่ควรประมาทเลย เพราะถ้าเราดูแลตัวเองไม่ดี อาจจะทำให้กลายเป็นไข้หวัดใหญ่ได้ ซึ่งมีอาการที่ร้ายแรงกว่าไข้หวัดธรรมดา
สาเหตุการป่วย
สาเหตุที่ทำให้เราป่วยเป็นไข้หวัดนั้น เกิดจากเชื้อไวรัสที่ทำให้เกิดโรคทางเดินหายใจ โดยเชื้อไวรัสที่พบบ่อยคือ “ไรโนไวรัส” คนที่ป่วยจะมีอาการคัดจมูก, น้ำมูกไหล, ไอหรือจาม, คันคอ เป็นอาการนำมาก่อน แล้วจะเริ่มมีไข้ หนาวสั่น ปวดศรีษะ และปวดเมื่อตามตัว
วิธีการรักษา
โรคไข้หวัดสามารถรักษาได้โดยการพักผ่อนให้มากๆ ดื่มน้ำเยอะๆ เช็ดตัวทุกชั่วโมงเมื่อมีอาการตัวร้อน และกินยารักษาตามอาการ แต่ถ้ายังมีไข้ขึ้นสูงติดต่อกันเป็นเวลานาน ก็ต้องรีบไปพบแพทย์เพื่อดูอาการต่อไป
ดูแลตัวเองอย่างไรให้ห่างไกลไข้หวัด
เราควรที่จะกินอาหารที่มีประโยชน์ต่อร่างกาย ครบ 5 หมู่ และกินผลไม้ที่มีวิตามันซีสูงๆ เพราะในวิตามินซีสามารถช่วยป้องกันไม่ให้เราป่วยเป็นไข้หวัดได้, ออกกำลังการสม่ำเสมอ, หลีกเลี่ยงสภาวะแวดล้อมที่มีแต่มลพิษ และหลีกเลี่ยงการไอหรือจามจากผู้อื่น เพราะไข้หวัดสามารถติดต่อกันได้ง่าย ดังนั้นเมื่อเราป่วยก็ควรที่จะใส่หน้ากากอนามัยป้องกันตัวเองและป้องกันไม่ให้ไปติดผู้อื่น หรือในเวลาที่จะต้องเดินทางไปในที่ชุมชนคนเยอะ ถึงแม้ว่าเราจะไม่ได้ป่วยก็ควรที่จะใส่หน้ากากอนามัยป้องกันเอาไว้ด้วย
2. ไข้หวัดใหญ่
สำหรับไข้หวัดใหญ่จะมีอาการป่วยคล้ายๆ กับไข้หวัดธรรมดา แต่จะมีอาการที่รุนแรงกว่าและอาจจะถึงขั้นเสียชีวิตได้
สาเหตุการป่วย
โดยไข้หวัดใหญ่เกิดจากการติดเชื้อของระบบทางเดินหายใจอย่างเฉียบพลัน เชื้อต้นเหตุคือ “อินฟลูเอ็นซาไวรัส” จะทำให้มีอาการหนาวสั่น, ไข้ขึ้นสูง, เจ็บคอ, ปวดเมื่อยตามกล้ามเนื้อ, ปวดศรีษะอย่างรุนแรง และอาจจะมีอาการคลื่นไส้อาเจียนได้ด้วย
วิธีการรักษา
การรักษาโรคไข้หวัดใหญ่จะคล้ายๆ กับโรคไข้หวัด เมื่อเราเริ่มเป็นควรที่จะดื่มน้ำให้มากๆ เพื่อลดความร้อนในร่างกาย, เช็ดตัวทุกชั่วโมง และควรกินยารักษาตามอาการ แต่ถ้าไข้ขึ้นสูงเมื่อไหร่ให้รีบไปพบแพทย์ในทันที
ดูแลตัวเองอย่างไรให้ห่างไกลไข้หวัดใหญ่
สำหรับผู้ที่มีภูมิคุ้มกันต่ำ เด็กเล็ก, หญิงตั้งครรภ์, คนชรา และผู้ที่มีอาการป่วยเรื้อรัง ควรที่จะฉีดวัคซีนป้องกันไข้หวัดใหญ่เอาไว้ ซึ่งเราสามารถไปรับการฉีดวัคซีนได้ตามโรงพยาบาล หรือสถานีอนามัยทั่วประเทศ นอกจากนี้เราไม่ควรที่จะใช้สิ่งของร่วมกับผู้อื่น ไม่ว่าจะเป็นแก้วน้ำ, ช้อน ผ้าเช็ดหน้า และผ้าเช็ดตัว เป็นต้น ปิดปาก ปิดจมูกทุกครั้งที่ไอหรือจาม ควรใส่หน้ากากอนามัยก่อนออกจากบ้านหรือเมื่อเริ่มมีอาการ และควรล้างมือบ่อยๆ ด้วยสบู่หรือเจลแอลกฮอลล์
3. โรคปอดบวม
โรคปอดบวม เป็นภาวะปอดอักเสบจากการติดเชื้อแบคทีเรียนหรือเชื้อไวรัสที่มีมากเกินไป จนทำให้มีหนองและสารปนเปื้อนอย่างอื่นในถุงลม
สาเหตุการป่วย
โดยสาเหตุมักจะอยู่ในน้ำลายและเสมหะของผู้ป่วย สามารถแพร่กระจายออกมาเวลาไอหรือจามหรือการสำลักน้ำลาย เศษอาหารและน้ำย่อย อาการเด่นๆ ที่เราสามารถเห็นได้ชัดก็คือ การไอหรือจาม, มีเสมหะมากกว่าปกติ, แน่นหน้าอกจนหายใจไม่ค่อยออก, คัดจมูก และเริ่มมีไข้ขึ้นสูงเกิน 2 วัน โรคปอดบวมมักจะพบหลังจากการเป็นไข้หวัดเรื้อรัง หรือคนที่เป็นโรคหอบหืด โดยเฉพาะในกลุ่มของคนชราและเด็กอายุระหว่าง 5-10 ขวบหรือต่ำกว่านั้น
วิธีการรักษา
โรคนี้ค่อนข้างเรื้อรังจึงต้องระมัดระวังในการรักษา หากไม่สบายต้องเฝ้าดูอาการอย่างใกล้ชิด ควรดื่มน้ำบ่อยๆ พักผ่อนให้เพียงพอ กินอาหารที่ย่อยง่ายและถ้าหากมีไข้ตัวร้อนให้เช็ดตัวเรื่อยๆ แล้วกินยาลดไข้เพื่อรักษาอาการ อาการจะค่อยๆ ดีขึ้น และหายภายใน 1 สัปดาห์ แต่ถ้าหากไม่ดีขึ้น มีอาการซึมลง, ไข้ขึ้นสูง, กินอาหารและน้ำไม่ได้, ไอ, หายใจเร็ว, หายใจมีเสียง ให้รีบไปพบแพทย์โดยด่วน เพราะนั่นคืออาการของโรคปอดบวมเริ่มแรก
ดูแลตัวเองอย่างไรให้ห่างไกลโรคปวดบวม
เมื่อรู้ว่าตัวเองเริ่มมีอาการไข้หวัด ให้รีบรักษาและพบแพทย์ในทันที ดื่มน้ำอุ่น อยู่ในที่อากาศถ่ายเทสะดวก สำหรับเด็กเล็กให้รับการฉีดวัคซีนป้องกันโรคปอดบวมที่โรงพยาบาล หรือสถานีอนามัยใกล้บ้าน หลีกเลี่ยงการอยู่ในสถานที่แออัด และหมั่นล้างมือทุกครั้งเมื่อกลับถึงบ้าน
4. โรคอุจจาระร่วง
สำหรับอาการของโรคอุจจาระร่วง คือ คนที่เป็นจะถ่ายเหลวเป็นน้ำ จะมีอาการไข้และอาเจียนร่วมด้วย มักมีก้นแดง โดยปกติแล้วอาการถ่ายเหลวจะหายภายใน 3-7 วัน แต่ก็ยังต้องดูแลใกล้ชิดและสังเกตลักษณะของอุจจาระด้วยว่า มีเลือดหรือมูกเลือดปนออกมาด้วยหรือไม่ ถ้ามีปนออกมาแล้วมีอาการหวัดร่วมด้วยให้รีบไปพบแพทย์ เพื่อทำการรักษาต่อไป
สาเหตุการป่วย
โรคอุจจาระร่วงส่วนใหญ่มีสาเหตุมาจาก “เชื้อโรต้าไวรัส” และมักพบในเด็กอายุต่ำกว่า 5 ขวบ ที่พบบ่อยที่สุดคือ เด็กอายุ 6-12 เดือน เพราะเด็กในวัยนี้กำลังเป็นวัยเรียนรู้และชอบที่จะหยิบของทุกสิ่งเข้าปาก โดยที่เชื้อตัวนี้จะแฝงอยู่ในสิ่งต่างๆ รอบตัวเด็ก มักจะพบได้มากในช่วงเดือนตุลาคม-กุมภาพันธ์
วิธีการรักษา
หากเด็กถ่ายมากจนเสียน้ำ ให้จิบสารละลายเกลือแร่น้อยๆ แต่บ่อยๆ ไปทั้งวันเพื่อรักษาอาการขาดน้ำ โดยสามารถสังเกตได้ง่ายๆ คือเด็กจะเริ่มปากแห้ง กระหายน้ำ ปัสสาวะน้อย ก็ให้จิบเกลือแร่ในทันที แต่ถ้าเด็กไม่สามารถทานเกลือแร่ได้ ก็จะต้องให้น้ำเกลือทางเส้นเลือดแทนและอย่างดอาหาร เพราะจะยิ่งทำให้ร่างกายขาดสารอาหารซ้ำเข้าไปอีก เพียงแต่เปลี่ยนอาหาร ให้เน้นอาหารจำพวกแป้งและโปรตีน โดยกินทีละน้อยๆ หลีกเลี่ยงอาหารที่มีเส้นใยสูง เช่น ผักผลไม้ และนม ฯลฯ (ส่วนเด็กที่ยังดื่มนมอยู่ ก็ให้ดื่มนมได้ตามปกติ)
ดูแลตัวเองอย่างไรให้ห่างไกลโรคอุจจาระร่วง
ให้ความสำคัญกับสุขอนามัยภายในบ้าน เพราะเชื้อไวรัสตัวนี้อยู่รอบๆ ตัวเรา ให้ล้างมือทุกครั้งที่หยิบจับของสกปรก ทำความสะอาดสถานที่ ของเล่นของใช้บ่อยๆ และหลีกเลี่ยงการพาเด็กเล็กไปสถานที่ที่แออัด หรืออีกทางเลือกหนึ่ง คือพาเด็กไปรับการหยอดวัคซีนที่โรงพยาบาล โดยจะหยอดวัคซีนในเด็กอายุ 2-4 เดือน
5. ไข้หัด
สำหรับไข้หัดสามารถติดต่อกันได้ทางลมหายใจ จากการไอหรือจามรดกัน ช่วงเวลาเสี่ยงโรคนี้คือ “ฤดูหนาว” โดยเฉพาะในเดือนมกราคม จะมียอดของผู้ที่ป่วยเพิ่มขึ้นทุกปี ในกลุ่มเสี่ยงของโรคนี้คือ เด็กเล็กและเด็กในวัยเรียน ช่วงอายุ 5-9 ขวบ
สาเหตุการป่วย
หัดเป็นโรคที่เกิดจากเชื้อไวรัสที่เรียกว่า “รูบีโอราไวรัส” เป็น RNA ไวรัสที่พบได้มากในจมูกและลำคอ โดยจะมีอาการคล้ายกับผู้ป่วยโรคไข้หวัดคือ มีไข้ก่อน แล้วจึงมีน้ำมูก มักไอแห้งตลอดเวลา ตาและจมูกจะแดง ในเด็กจะมีไข้สูงประมาณ 3-4 วัน แล้วจึงขึ้นผื่นแดงๆ ที่หลังหู ลามไปยังหน้าและร่างกาย ผื่นจะค่อยๆ โตขึ้นและมีสีเข้มขึ้น สังเกตได้ว่าก่อนหน้าที่เด็กจะเป็นจะมีตุ่มใสๆ ขึ้นในปาก ตรงกระพุ้งแก้มและฟันกรามบน ซึ่งจะเป็นตุ่มที่เกิดเฉพาะในโรคหัดเท่านั้น และจะขึ้นอย่างรวดเร็วภายใน 24 ชม. พอผื่นออกได้ประมาณ 2-3 วัน อาการก็จะดีขึ้นเรื่อยๆ เพียงแต่สิ่งที่ต้องระวังคือ โรคแทรกซ้อน เช่น โรคปอดบวม, โรคอุจจาระร่วง, โรคสมองอักเสบ และหูชั้นกลางอักเสบ เป็นต้น
วิธีการรักษา
ให้กินยาลดไข้ รักษาตามอาการ และพาผู้ป่วยไปพบแพทย์ โดยที่โรคนี้จะต้องมีการพบแพทย์อย่างสม่ำเสมอ เพื่อแพทย์ที่จะได้ติดตามรักษาอาการ ได้อย่างต่อเนื่อง
ดูแลตัวเองอย่างไรให้ห่างไกลจากโรคไข้หัด
หลีกเลี่ยงแหล่งที่มีเชื้อ ผู้คนพลุกพล่าน ใส่หน้ากากอนามัยทุกครั้งเมื่อออกจากบ้านหรือไปในที่ชุมชน และกลับถึงบ้านทุกครั้งให้ล้างมือให้สะอาดก่อนหยิบสิ่งของหรือกินอาหาร
รู้ทันโรค มือปากเท้าปาก พบมากในช่วงฤดูฝนย่างเข้าฤดูหนาว
บทความที่น่าสนใจ
- หมอเตือน! หน้าหนาวระวังเลือดหนืด
- 3 วิธีจัดการ ปากแห้ง ลอกเป็นขุย
- ไขข้อสงสัย? ทำไมบางคนถึงรู้สึกร้อน แต่บางคนกลับรู้สึกหนาว
- 7 วิธีรับมือ อากาศเย็นแบบฉับพลัน | ถุงเท้าเป็นหนึ่งในไอเท็มสำคัญ
ข้อมูลและภาพ : www.honestdocs.co, www.ladiesliveandlearn.com