อาหาร “หวาน มัน เค็ม” 3 รสชาติของความอร่อยที่หลายๆ คนยังไม่รู้ว่า การกินอาหารที่รสชาติจัดจ้านมากเกินไปก็เป็นหนึ่งในสาเหตุหลักของการเกิดโรคร้าย ที่เรียกว่า “NCDs” (Non-Communicable Diseases) หรือกลุ่มโรคไม่ติดต่อเรื้อรัง ซึ่งได้แก่ โรคเบาหวาน กลุ่มโรคหลอดเลือดสมองและหัวใจ โรคมะเร็ง โรคถุงลมโป่งพอง โรคความดันโลหิตสูง และโรคอ้วนลงพุง ในปัจจุบัน กลุ่มโรคเหล่านี้คือสาเหตุหลักของการเสียชีวิตของคนไทย
หวาน มัน เค็ม – รู้ทัน 3 ตัวร้ายพาร่างพัง
ตัวการหลักๆ ในอาหารแสนอร่อยที่ก่อให้เกิดโรค NCDs นั้น ไม่ว่าจะเป็นในอาหารแปรรูป ขนม หรือเครื่องดื่มต่างๆ ก็คือน้ำตาล ไขมัน และโซเดียม ถึงเวลาแล้วที่เราต้องหันมาดูแลสุขภาพของตัวเองและครอบครัวอย่างจริงจัง เพื่อลดความเสี่ยงจากโรค “NCDs” ลง เริ่มง่ายๆ โดยลดเจ้า 3 ตัวร้าย “หวาน มัน เค็ม” ดังนั้นก่อนอื่นเราต้องมาทำความเข้าใจว่า หวาน มัน เค็ม ก่อให้เกิดผลกระทบต่อสุขภาพอย่างไรบ้าง และปริมาณน้ำตาล ไขมัน และโซเดียม ที่ร่างกายควรได้รับอย่างเหมาะสมในแต่ละวัน มันคือเท่าไรกันแน่
ความหวาน
– ไม่ได้นับแค่ปริมาณน้ำตาลที่เติมลงไปเพื่อเพิ่มรสชาติในอาหาร แต่รวมถึงน้ำตาลที่อยู่ในอาหาร ขนม และเครื่องดื่มต่างๆ การกินน้ำตาลมากเกินไป ทำให้อ้วนง่ายขึ้น เพราะโดยปกติแล้ว ร่างกายจะนำพลังงานจากน้ำตาลมาใช้ในกระบวนการเผาผลาญ หากกินมากเกินไป ร่างกายจะเปลี่ยนน้ำตาลส่วนเกินเป็นไขมันสะสม ทำให้เสี่ยงเป็นโรคอ้วนและโรคเบาหวาน การกินหวานที่เหมาะสมนั้น ผู้ใหญ่ควรบริโภคน้ำตาลที่เติมลงในอาหารหรือเครื่องดื่มไม่เกิน 6 ช้อนชาต่อวัน (หรือ 24 กรัม) ส่วนเด็กไม่เกิน 4 ช้อนชาต่อวัน (หรือ 16 กรัม) โดย 1 ช้อนชาเท่ากับ 4 กรัม เพราะนอกจากน้ำตาลจะทำให้เสี่ยงเป็นโรคแล้ว ยังทำให้แก่เร็วอีกด้วย เนื่องจากปริมาณน้ำตาลที่สูงเกินไปจะเข้าไปทำลายคอลลาเจนในผิวหนัง
ความมัน
– หมายถึงศัตรูตัวร้ายหากได้รับมากเกินไปอย่าง “ไขมัน” นั่นเอง ซึ่งมาจากปริมาณน้ำมันในการประกอบอาหาร รวมถึงไขมันที่อยู่ในขนมขบเคี้ยวแสนอร่อยทั้งหลาย อาหารประเภททอด และอาหารแปรรูปต่างๆ ที่มีไขมันแฝงตัวอยู่ อาทิ ไส้กรอก ทูน่ากระป๋อง ขนมเค้ก ของหวานน้ำกะทิ เบเกอรี่ เป็นต้น ปริมาณไขมันที่สูงเกินไปจะก่อให้เกิดความเสี่ยงต่อโรคอ้วนและความดันโลหิตสูง ควรบริโภคไขมันไม่เกิน 65 กรัมต่อวัน หรือใช้น้ำมันประกอบอาหารไม่เกิน 6 ช้อนชาต่อวัน
ความเค็ม
– โซเดียม คืออีกหนึ่งภัยอันตรายต่อสุขภาพ การกินเค็มมากเกินไปทำให้เสี่ยงต่อภาวะความดันโลหิตสูงและโรคไต ควรบริโภคโซเดียมไม่เกินวันละ 1 ช้อนชาต่อวัน (หรือ 2,000 มิลลิกรัม) นอกจากต้องระวังเรื่องของเกลือแล้ว ต้องไม่ลืมว่าแหล่งที่มาของโซเดียม ไม่ใช่แค่เกลืออย่างเดียว แต่ยังรวมถึงโซเดียมแฝงในอาหาร อาทิ อาหารสำเร็จรูป อาหารแปรรูปขนมขบเคี้ยว อาหารหมักดอง และที่สำคัญ คือ เครื่องปรุงรสนานาชนิดที่เรานิยมใช้ปรุงแต่งรสชาติอาหารให้อร่อย ดังนั้น เราจึงควรชิมก่อนปรุง และปรุงรสชาติอาหารแต่พอเหมาะ
อย่างไรก็ตาม ด้วยไลฟ์สไตล์ของคนรุ่นใหม่และสังคมเมืองที่ขยายตัว มีชีวิตที่เร่งรีบในแต่ละวัน รวมทั้งช่วงวันหยุดที่หลายคนก็ยังคงใช้ชีวิตกินดื่มเที่ยวกันอย่างเต็มที่ เราจึงอาจเพลิดเพลินกับรสชาติความอร่อยของอาหารรสจัดจ้านที่มีภัย “หวาน มัน เค็ม” แฝงตัวอยู่ วิธีง่ายๆ ที่จะทำให้เรามีพฤติกรรมการกินที่ดีขึ้น มีคุณภาพชีวิตที่ดีขึ้น คือ การเลือกรับประทานอาหารและเครื่องดื่มที่ได้รับการรับรองสัญลักษณ์โภชนาการ “ทางเลือกสุขภาพ” (Healthier Choice) ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ที่แสดงว่าผลิตภัณฑ์อาหารนั้นได้ผ่านเกณฑ์การพิจารณาแล้วว่ามีปริมาณน้ำตาล ไขมัน และเกลือ (โซเดียม) ที่เหมาะสม ไม่เกินปริมาณที่ร่างกายควรได้รับในแต่ละวัน
บทความแนะนำ
- 10 นิสัยการกินที่ควรแก้ไข กินถูกหรือผิดวิธีมั้ย ลองเช็คกันหน่อยนะ
- 5 วิธีในการเลือกทานอาหาร – เคล็ดลับสุขภาพดีได้ง่ายๆ แค่ปรับวิธีการกิน
- ควรรู้ไว้เพื่อสุขภาพ มีจุดขาวๆ ขึ้นที่เล็บ ร่างกายกำลังบอกอะไร?
- ใครว่าเรื่องเล็บเรื่องเล็ก! 6 ทริค ง่ายๆ ที่ช่วยและป้องกันให้เล็บแข็งแรง
- ข้อเสียของการกิน พาราเซตามอล – กินพร่ำเพรื่อ ส่งผลต่อสุขภาพโดยตรง
- ทำไมบางคนชอบกัดเล็บ – งานวิจัยเผย 4 เหตุผล ของคนชอบกัดเล็บ