เนื้อสัตว์ที่คนนิยมนำมาใช้ประกอบอาหารนอกจาก หมู ไก่ ก็ยังมีปลา ซึ่งเป็นวัตถุดิบที่ให้พลังงาน ให้โปรตีน แถมยังแคลรอรี่น้อย เรียกได้ว่าเป็นอาหารที่เหมาะกับคนรักสุขภาพมากๆ แต่ใครที่ชอบกินปลาดอร์ลี ช่วงนี้ก็จะต้องระวังกันหน่อย เพราะทีมวิจัยจากมหาวิทยาลัยดังพบว่า ในปลาดอร์ลีมีสารปนเปื้อนยาปฏิชีวนะ เกินมาตรฐานองค์การอนามัยโลก
เตือนภัย ! ปลาดอร์ลีมีสารปนเปื้อนยาปฏิชีวนะ
ปลาดอร์ลีเป็นปลาที่คนไทยนิยมซื้อมากิน เนื่องจากราคาถูก และหาซื้อได้ง่าย ประเทศไทยมีการนำเข้าปลาดอลลี่ 11,000 กิโลกรัมต่อปี และจากพฤติกรรมการบริโภคปลาดอร์ลีจำนวนมากของคนไทยก็ทำให้เกิด งานวิจัยผลกระทบ และมาตรการรองรับสารอันตรายตกค้าง กรณีศึกษาปลาดอร์ลี่ งานวิจัยในครั้งนี้เกิดจากความร่วมมือระหว่างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และมหาวิทยาลัยมหิดล
ภาพ : yogiant.com
สาเหตุของการสารปนเปื้อนในปลาดอร์ลีนำเข้า
ปลาดอร์ลี หรือปลาสวายนำเข้า ซึ่งส่วนมากมักจะนำเข้ามาจากประเทศเวียดนาม โดยวิธีการเลี้ยงปลาชนิดนี้คือ เลี้ยงอยู่ในกระชังปลา และมีการให้ยาปฏิชีวนะป้องกันไม่ให้ปลาเจ็บป่วย จึงเป็นไปได้ที่สารปนเปื้อนจะยังตกค้างอยู่ และส่งผลมาถึงคนกิน ซึ่งอาจารย์ที่อยู่ในทีมวิจัยก็ยังบอกอีกว่า ถึงจะเอาปลาดอร์ลีไปผ่านความร้อนด้วยการต้ม หรือทอด ก็ยังไม่สามารถมั่นใจได้ว่า สารปนเปื้อนที่อยู่ในเนื้อปลาจะสลายไปด้วย
สุ่มตรวจพบการปนเปื้อนยาปฏิชีวนะ เกินค่ามาตรฐาน
จากผลการสุ่มตรวจตัวอย่างปลาดอร์ลีจำนวน 100 ตัวอย่างตามท่าเรือ สนามบิน โมเดิร์นเทรด รวมถึงแหล่งจำหน่ายต่างๆ ซึ่งส่วนใหญ่นำเข้าจากประเทศเพื่อนบ้านในกลุ่มเออีซี (AEC) ก็พบการปนเปื้อนของยาปฏิชีวนะ ที่ใช้ในกระบวนการเพาะเลี้ยงเกินค่ามาตรฐานที่องค์การอนามัยโลกกำหนด จำนวน 25 ตัวอย่าง
องค์กรอนามัยโลกกำหนดไว้ว่า น้ำหนักปลา 1 กิโลกรัม ต้องมียาปฎิชีวนะไม่เกิน 200 ไมโครกรัม ถ้าหากเรากินปลาที่มีสารตกค้างนี้ไปนานๆ อาจก่อให้เกิดเชื้อดื้อยาได้ และความน่ากลัวก็คือในปัจจุบันคนไทยเสียชีวิตจากการดื้อยากว่า 38,000 คน เจ็บป่วยกว่า 700,000 คนต่อปี
อย. คุมตรวจปลาดอร์ลีเข้ม
หลังจากที่ผลวิจัยนี้ออกมา อย. ก็ดำเนินการตรวจสอบตัวอย่างปลาดอร์ลีนำเข้า โดยการตรวจวิเคราะห์กลุ่มปลานำเข้าตามด่านชายแดนและจุดนำเข้าต่าง ๆ รวมถึงตลาดสด และซุปเปอร์มาร์เก็ตที่มีการวางจำหน่าย คาดว่าจะรู้ผลภายใน 1-2 วัน จากนั้นจึงค่อยตัดสินใจว่าจะระงับการนำเข้าสินค้าหรือไม่ แต่ตอนนี้ทาง อย. ก็ขอให้ประชาชนอย่าเพิ่งตื่นตระหนก เพราะยาปฏิชีวนะสามารถสลายจากการผ่านความร้อนในการปรุงอาหารให้สุก ถึงแม้จะไม่สามารถกำจัดได้หมด แต่ก็ช่วยลดปริมาณสารที่ตกค้างได้
ที่มาข้อมูล : komchadluek , news thaipbs