คนรักสุขภาพ ผัก ผักใบเขียว สร้างสุขภาพดี

ทำความรู้จัก ผักเคล (Kale) ราชินีผักใบเขียว – คุณค่าที่คนรักสุขภาพคู่ควร

Home / สุขภาพทั่วไป / ทำความรู้จัก ผักเคล (Kale) ราชินีผักใบเขียว – คุณค่าที่คนรักสุขภาพคู่ควร

จากคำกล่าวที่ว่า ‘YOU ARE WHAT YOU EAT’ กินอะไรก็จะเป็นอย่างนั้น ทำให้หลายคนหันมาดูแลสุขภาพอาหารการกินกันมากขึ้น ลดการรับประทานอาหารจำพวกฟาสฟู๊ด อาหารใส่ผงชูรส หรืออาหารที่ผ่านการปรุงเยอะๆ แล้วหันมาเลือกทานอาหารประเภทที่ให้สารอาหารเยอะ แต่แคลลอรี่หรือไขมันต่ำ (ผักเคล (Kale) ราชินีผักใบเขียว)

ผักเคล (Kale) ราชินีผักใบเขียว

คนรักสุขภาพจึงเลือกทานอาหารประเภทที่ให้สารอาหารเยอะ อาทิ เมล็ดเจีย ข้าวโอ๊ต คีนัว ผักผลไม้ต่างๆ โดยอาหารที่กำลังฮิตในหมู่คนรักสุขภาพนั่นคือ “ผักเคล (Kale) หรือ ผักคะน้าใบหยัก” นั่นเอง วันนี้แคมปัส-สตาร์จะพาไปทำความรู้จักเจ้าผักเคลให้มากขึ้นกันค่ะ

ผักเคล คืออะไร?

ผักเคล (Kale) หรือ ผักคะน้าใบหยัก เป็นพืชตระกูลเดียวกับผักจำพวก บร็อคเคอรี่ คะน้า และดอกกะหล่ำ มีลักษณะสีเขียวเข้ม ใบหยิก เป็นที่นิยมอย่างมากในต่างประเทศ และถูกยกให้เป็น ‘Superfood’ เพราะอุดมไปด้วยวิตามินและสารต้านอนุมูลอิสระมากมาย อาทิ โอเมก้า 3 แมกนีเซียม แคลเซียม เหล็ก โซเดียม โพแทสเซียม วิตามินเอ วิตามินซี วิตามินเค วิตามินบี 6 เป็นต้น

ทำไมต้องผักเคล

หลังจากที่นักวัทยาศาสตร์ได้ค้นพบประโยชน์มากมายจากผักแคล ก็ทำให้ผักชนิดนี้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย หลายคนลองรับประทานและเห็นผลที่ดีต่อร่างกาย จึงเกิดการบอกต่อกันไปเรื่อยๆ กลายเป็นกระแสในหมู่ของคนรักสุขภาพ เพราะผักเคลไม่เหมือนกับผักธรรมดาทั่วไป เป็นผักที่มีสารอาหารมากแต่น้ำตาลน้อย จึงเหมาะอย่างยิ่งสำหรับผู้ที่รักสุขภาพหรือผู้ที่ต้องการลดน้ำหนักนั่นเอง

อีกทั้งผักเคลยังให้คาร์โบไฮเดรตที่มีค่า Glycemic Index (GI) ต่ำ ซึ่งเป็นหน่วยวัดผลของคาร์โบไฮเดรตต่อระดับน้ำตาลในเลือด หากมีค่า GI สูง หมายถึงคาร์โบไฮเดรตจะแตกตัวอย่างรวดเร็วในระหว่างการย่อยอาหาร ทำให้กลูโคสเข้าสู่ระบบไหลเวียนโลหิตอย่างรวดเร็ว หากมีค่า GI ต่ำ หมายถึงคาร์โบไฮเดรตจะแตกตัวอย่างช้าๆ ค่อยๆ ให้กลูโคสเข้าสู่ระบบไหลเวียนโลหิตอย่างสม่ำเสมอ ดังนั้นอาหารที่มีค่า GI ต่ำมีประโยชน์ต่อสุขภาพ

นอกจากนี้ผักแคลยังเป็น ‘ตัวล้างสารพิษจากธรรมชาติ’ เช่นเดียวกับ สไปรูลิน่า เพราะมีไฟเบอร์และซัลเฟอร์ ที่ช่วยดึงสารพิษสะสมและกำจัดออกจากร่างกาย อาทิ สารตกค้างจากอาหารแปรรูป มลภาวะ ยาฆ่าแมลง และสารพิษตกค้างจากยา ซึ่งถ้าสะสมมากในร่างกายก็จะเพิ่มโอกาสในการเกิดโรค

ประโยชน์ของผักเคล

  • ช่วยลดคอเลสเตอรอล โดยมีงานวิจัยพบว่า การดื่มน้ำผักเคลเป็นประจำทุกวันติดต่อกัน 12 สัปดาห์ช่วยเพิ่มคอเลสเตอรอล HDL ที่ดีขึ้นถึง 27% และลดคอเลสเตอรอลตัวร้าย LDL ลงไป 10%
  • ต่อต้านสารอนุมูลอิสระ
  • ลดการอักเสบของร่างกาย
  • ลดรอยเหี่ยวย่นของผิว ลดริ้วรอย ชะลอวัย ช่วยให้ผิวหนังเปล่งปลั่งสดใส
  • ป้องกันโรคหวัด ช่วยเสริมระบบภูมิคุ้มกันของร่างกาย ระบบเผาผลาญซึ่งจำเป็นต่อการลดน้ำหนัก
  • ช่วยกำจัดสารพิษที่สะสมออกจากร่างกาย
  • ช่วยให้เลือดลำเลียงออกซิเจนไปยังอวัยวะต่างๆ ของร่างกายได้ดี
  • ช่วยให้เซลล์เติบโต และจำเป็นต่อการทำงานของตับ
  • ช่วยบำรุงเลือดและตับได้อย่างดี
  • ช่วยลดการอักเสบของไขข้อและข้อกระดูก ช่วยต้านทานโรคไขข้ออักเสบได้ดี
  • ช่วยให้ร่างกายดูดซึมแคลเซียมได้ดี
  • ช่วยปกป้องสายตา ทำให้ดวงตาแข็งแรงขึ้น ลดอาการปวดล้าของดวงตาจากการใช้งานหนัก
  • ช่วยซ่อมแซมเซลล์ที่สึกหรอ และชะลอการเจริญเติบโตของเซลล์มะเร็ง
  • ช่วยดีท๊อกซ์ลำไส้ ล้างสารพิษที่ตกค้าง และลดการเกิดโรคของโรคลำไส้อักเสบ

คุณค่าทางโภชนาการของผักเคล ต่อ 100 กรัม (อ้างอิงจาก:ndb.nal.usda.gov)

  • พลังงาน 35 กิโลแคลอรี
  • คาร์โบไฮเดรต 4.42 กรัม
  • น้ำตาล 0.99 กรัม
  • เส้นใย 4.1 กรัม
  • ไขมัน 1.49 กรัม
  • โปรตีน 2.92 กรัม
  • น้ำ 89.63 กรัม
  • วิตามินเอ 241 ไมโครกรัม
  • วิตามิน บี 1 0.113 มิลลิกรัม
  • วิตามิน บี 2 0.347 มิลลิกรัม
  • วิตามิน บี 3 1.180 มิลลิกรัม
  • วิตามินบี 6 0.147 มิลลิกรัม
  • วิตามินซี 93.4 มิลลิกรัม
  • วิตามินอี 0.66 มิลลิกรัม
  • วิตามินเค 389.6 ไมโครกรัม
  • โฟเลต 62 ไม่โครกรัม
  • ธาตุแคลเซียม 254 มิลลิกรัม
  • ธาตุเหล็ก 1.60 มิลลิกรัม
  • ธาตุแมกนีเซียม 33 มิลลิกรัม
  • ธาตุฟอสฟอรัส 55 มิลลิกรัม
  • ธาตุโพแทสเซียม 348 มิลลิกรัม
  • ธาตุโซเดียม 53 มิลลิกรัม
  • ธาตุสังกะสี 0.39 มิลลิกรัม
  • กรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงเดี่ยว 0.104 กรัม
  • กรดไขมันไม่อิ่มตัวเชิงซ้อน 0.6373 กรัม

วิธีรับประทานผักเคล

ผักเคล ามารถรับประทานสดๆ ได้เลย แต่อาจจะมีรสออกขมๆ และใบค่อนข้างหนา อาจจะรับประทานยากกว่าผักสลัดทั่วไป หากรับประทานแบบ ‘เบบี้เคล’ จะทานง่ายกว่า ซึ่งเป็นผักเคลมีอายุการปลูกประมาณ 60 วัน หรือสามารถนำมาประกอบอาหารได้หลายประเภททั้งต้ม ทอด ผัด แต่วิธีที่นิยมทำมากที่สุดคือ ‘การนำผักเคลมาปั่นเป็นเครื่องดื่มสมูตตี้’  ผสมกับผลไม้รสเปรี้ยว เช่น แอปเปิ้ลเขียวหรือกีวี่ ทำให้ทานง่ายยิ่งขึ้น

ข้อควรระวังในการรับประทานผักเคล

ทุกสิ่งบนโลก ถ้ามากเกินไปหรือน้อยเกินไปก็อาจให้โทษได้ ดังนั้นจึงควรรับประทานผักเคลแบบพอดีๆ เพราะในผักเคลมีสาร ‘Goitrogen‘ ซึ่งมีฤทธิ์ในการยับยั้งการสร้างฮอร์โมนในต่อมไทรอยด์ ทำให้ร่างกายนำไอโอดีนในเลือดไปใช้ได้น้อยกว่าปกติ หากได้รับสารชนิดนี้มากเกินไปจะทำให้มีอาการท้องอืดและร่างกายได้ขาดสารไอโอดีน นำไปสู่โรคคอพอกได้ ส่วนผู้ที่เป็นโรคคอพอกอยู่แล้ว ก็ไม่ควรรับประทานมากเกินไป หรืออาจปรึกษาแพทย์ผู้เชี่ยวชาญเพื่อขอคำแนะนำในการับประทาน

บทความแนะนำ