ฟันคุด สุขภาพฟัน

8 เรื่องเกี่ยวกับ ฟันคุด ที่อาจเข้าใจผิดมาตลอด

Home / สุขภาพทั่วไป / 8 เรื่องเกี่ยวกับ ฟันคุด ที่อาจเข้าใจผิดมาตลอด

ฟันคุด ปัญหาเกี่ยวกับสุขภาพฟันที่หลายคนไม่อยากเจอ เพราะเวลาต้องถอนหรือผ่าออก หลาย ๆ คน ส่วนมากที่ได้แชร์ประสบการณ์ต่างบอกว่ามีอาการปวดและบวมทรมาน ในความเป็นจริงสาเหตุและอาการของการเป็นฟันคุดนั้นเป็นอย่างไรกันแน่? และกับคำถามที่หลายคนสงสัย เช่น ไม่ถอนฟันคุดออกได้ไหม?, ผ่าแล้วต้องพักฟื้นที่ รพ.ไหม, ต้องอดอาหารหรือเปล่า หรือควรผ่าตอนเป็นวัยรุ่นดีที่สุดใช่หรือไม่? ในบทความนี้เรามีคำตอบมาให้อ่าน

8 เรื่องน่ารู้เกี่ยวกับ ฟันคุด

– – – – – – – – – – – – – – —

1. ฟันคุด คืออะไร?

ฟันคุด (Impacted tooth, Wisdom tooth) ฟันที่ไม่สามารถโผล่พ้นเหงือกออกมาได้ ฝังตัวอยู่ใต้เนื้อเยื่อของเหงือก และบริเวณกระดูกขากรรไกร แต่บางรายฟันคุดอาจจะโผล่ขึ้นมาจากเหงือกเพียงบางส่วนก็ได้

2. ไม่จริงเสมอไปที่ ฟันคุดจะขึ้นที่ฟันกรามล่างซี่ที่สาม

จริงอยู่ที่บอกว่า ฟันคุด มักจะพบว่าเป็นบ่อยๆ ที่ฟันกรามล่างแท้ซี่ที่สาม (lower third molar) ซึ่งโดยปกติแล้วฟันซี่นี้จะโผล่พ้นเหงือกออกมาในช่วงอายุ 17 – 21 ปี นอกเหนือจากฟันกรามซี่นี้แล้ว การเป็นฟันคุดก็อาจพบได้ในฟันซี่อื่น ๆ ได้ด้วย เช่น ฟันเขี้ยว ฟันกรามน้อย ได้เช่นกัน 

3. ฟันคุดมีหลายรูปแบบ ไม่ใช่ฟันที่โผล่ไม่พ้นเงือกอย่างเดียวนะ

ฟันคุด แบ่งออกได้หลายชนิด โดยดูจากความสัมพันธ์กับฟันข้างเคียง ดังนี้…

– ฟันคุดที่หันส่วนครอบฟัน (Crown) เข้าหาฟันกรามแท้ซี่ที่สองเราเรียกว่า Mesioangular impaction หรือ Mesial impaction (ชนิดที่พบบ่อยที่สุด)

– ถ้าหันส่วนครอบฟันออก เรียกว่า Distoangular impaction หรือ Distal impaction

– ฟันคุดขึ้นตรงๆ เรียกว่า Vertical impaction

– ฟันคุดนั้นขึ้นในแนวนอนเรียกว่า Horizontal impaction

– ฟันคุดที่ไม่สามารถโผล่พ้นกระดูกขากรรไกรได้เรียกว่า Bony impaction

– ฟันคุดที่สามารถโผล่พ้นกระดูกขากรรไกรได้แต่ไม่สามารถทะลุผ่านเหงือกได้เลย หรือสามารถผ่านได้บางส่วนเราเรียกว่า Soft tissue impaction

4. ไม่ต้องผ่าฟันคุดได้ไหม?

คำถามนี้ถือเป็นคำถามยอดฮิต เพราะหลายคนกลัวความเจ็บ กลัวว่าผ่าออกมาแล้วหน้าจะบวม ทางการแพทย์แนะนำว่าควรจะผ่าฟันคุดตัดออก เพราะถ้าหากไม่ผ่าจะส่งผลให้เกิดข้อเสียหลายอย่าง เช่น รู้สึกปวดฟัน, บริเวณที่เกิดฟันคุดทำความสะอาดยากทำให้มีเศษอาหารไปสะสม ทำให้เหงือกที่คลุมฟันอักเสบได้

อีกทั้งยังทำให้ฟันซี่ข้าง ๆ ผุหรือเป็นโรคเหงือก นอกจากนี้ฟันคุดยังอาจทำให้เกิดปัญหาฟันล้มเก, ปัญหาการละลายตัวของรากฟันข้างเคียง และอาจทำให้เกิดถุงน้ำทำให้บริเวณขากรรไกรถูกทำลายจนเป็นหลุมและทำลายเส้นประสาทที่บริเวณขากรรไกรได้ เป็นต้น คือสรุปโดยรวมถ้าไม่ผ่าฟันคุดจะทำให้เกิดปัญหาสุขภาพช่องปากและส่งผลให้ใช้ชีวิตได้ไม่ปกติสุขนะ

5. ผ่าฟันคุดทำให้หน้าบวม และปวดมากจริงไหม?

หลังผ่าฟันคุดไม่ได้ทำให้หน้ามั้งหน้าบวม แต่จะเกิดอาการบวมภายในช่องปากและแก้ม และค่อนข้างรุนแรงในช่วงวันแรก ๆ เท่านั้น อาการจะค่อย ๆ ดีขึ้นการประคบเย็นสามารถช่วยลดบวมได้ สำหรับอาการปวดมีแน่นอน แต่อย่างที่บอกอาการจะค่อย ๆ ดีขึ้น (แต่ถ้าการผ่ามีความซับซ้อนมากสักหน่อยผู้ป่วยอาจจะปวดมากสักหน่อยนะ แต่ก็ผ่านไปได้แน่นอน)

นอกจากนี้อาจจะมีอาการแทรกซ้อนเช่น เจ็บแปลบ ๆ หรือชาที่ใบหน้า ริมฝีปาก หรือลิ้น เพราะอาจจะเกิดจากยาชาที่ตกค้าง หรือเกิดจากการถูกกระทบกระเทือนที่บริเวณปลายประสาทนั่นเอง แต่อาการชานี้จะไม่รบกวนต่อการดำรงชีวิต หรือการรับรู้รสชาติอาหาร ยังสามารถรับรสได้ตามปกติ

6. ผ่าตัดฟันคุดออก ช่วงเป็นวัยรุ่นดีที่สุด

เพื่อหลีกเลี่ยงอาการชาดังกล่าวในข้อ 5  ทันตแพทย์จึงมักแนะนำให้ผ่าตัดฟันคุดออกในวัยรุ่น อายุประมาณ 18-25 ปี เนื่องจากรากฟันจะยังไม่ยาวจนไปชิดกับเส้นประสาทดังกล่าว

7. ต้องพักฟื้นที่ รพ.ไหม?

การผ่าฟันคุดเป็นการผ่าตัดที่สามารถทำได้โดยมักจะไม่ต้องพักฟื้นที่โรงพยาบาล โดยหลังจากการผ่าตัด ผู้ป่วยจะสามารถกลับบ้านได้ แนะนำก่อนผ่าวันที่หมอนัดตรวจ สามารถถามข้อสงสัยกับหมอได้เลย

8. หลังผ่าไม่ควรทานอะไรจริงไหม?

หลังผ่าฟันคุดเป็นช่วงพักฟื้นและรักษาตัว แน่นอนว่าไม่สามารถทานอาหารได้ปกติ แต่ไม่ควรอดอาหาร!! 1-2 วันแรกควรทานอาหารเหลว หลีกเลี่ยงการใช้หลอดดูดน้ำและการรับประทานอาหารร้อนหรือรสจัดจะดีที่สุด

ข้อมูลจาก : med.mahidol, pobpad, vejthani

บทความแนะนำ