PMS ประจำเดือน

ประจำเดือนของผู้หญิง ความทุกข์ในรอบเดือน (เมนส์ หรือ พีเรียด)

Home / สุขภาพทั่วไป / ประจำเดือนของผู้หญิง ความทุกข์ในรอบเดือน (เมนส์ หรือ พีเรียด)

สิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้หญิงหลายคนเป็นประจำทุกเดือนตลอดมา คือทุกครั้งก่อนจะถึงวันที่ประจำเดือนมาจะรู้ตัวก่อนเสมอ จากอาการสารพัดอย่างที่เกิดขึ้นโดยอัตโนมัติ ใกล้ๆ จะถึงวันนั้น 2-3 วัน เช่น เธอจะรู้สึกง่วงนอน เซื่องซึมไม่อยากทำอะไร หนักๆ ที่ต้นขาไปถึงท้องน้อย รู้สึกว่าตัวบวม เต้านมคัดตึง อึดอัดไปหมด ..

ประจำเดือนของผู้หญิง วันแห่งความทุกข์ในรอบเดือน

ก่อนหน้าที่ประจำเดือนมาวันหนึ่งหรือชั่วโมงหนึ่งตะคริวจะมาเยือน ซึ่งทำให้เจ็บปวดมากขึ้นเรื่อยๆ จนถึงช่วงเวลาที่ประจำเดือนเริ่มไหลออกมา ตลอดวันนั้นผู้หญิงหลายคนรู้สึกทั้งเจ็บปวดทั้งหงุดหงิดไม่อยากกระดิกตัวไปไหน หรือเคลื่อนไหวทำอะไรทั้งสิ้น เพราะมันเจ็บปวดสะเทือนไปหมดทั้งร่าง แถมยังตามมาด้วยความรู้สึกคลื่นไส้อยากอาเจียน และปวดหัวตึบๆ ตลอดเวลา สิ่งที่ทำได้ก็คือ หลายคนต้องลาหยุดงาน หยุดเรียนเพื่อนอนนิ่งๆ อยู่กับบ้าน

วงจร “ประจำเดือน” และการดูแลตัวเอง

อาการแบบนี้เกิดขึ้นกับคุณผู้หญิงทั่วโลก จนหลายๆ คนนึกว่าเป็นเรื่องปกติธรรมชาติที่ใครๆ ก็เป็นกันได้ มีสาเหตุหลักมาจากการเปลี่ยนแปลง ของระดับฮอร์โมนเพศหญิงสูงขึ้นในร่างกายผู้หญิง ในช่วงก่อนที่จะมีประจำเดือน ซึ่งเกิดขึ้นกับผู้หญิงปกติทุกคน แต่การเปลี่ยนแปลงระดับฮอร์โมนนี้จะส่งผลให้เกิดอาการข้างเคียงมาก หรือน้อย แตกต่างกันไปแล้วแต่คน

อาการของแต่ละคน..

บางคนอาจเป็นมากเหมือนเป็นคนป่วย ขณะที่บางคนเป็นนิดหน่อยพอทนได้ โดยเฉพาะคนที่สูบบุหรี่ จมอยู่กับความเครียด ออกกำลังกายน้อย นอนน้อย ชอบกินเค็มมาก หรือหวานมาก กินเนื้อแดง หรือดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน แอลกอฮอล์เป็นประจำมักพบว่าเกิดอาการไม่สบายตัวเช่นนี้มากกว่าคนอื่น อาการแย่ๆ ทั้งทางร่างกายและจิตใจ มักจะเกิดก่อนช่วงเวลาที่ประจำเดือนจะมา ประมาณ 1-2 วัน บางคนจะเป็นหนักในวันที่ประจำเดือนมาวันแรก จนถึงวันที่ 3 และจะค่อยบรรเทาลงหลังจากนั้น

ประจำเดือน ใช่เลือดเสียหรือเปล่า ?

การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนเพศ

การเปลี่ยนแปลงของระดับฮอร์โมนเพศ ในระหว่างมีประจำเดือนนี้มีศัพท์เรียกหลายอย่าง เช่น premenstrual syndrome (PMS), premenstrual tension หรือ dysmenorrhea ซึ่งยังไม่มีใครตอบได้ชัดเจนว่าทำไมอาการเหล่านี้ถึงเกิดขึ้นกับเฉพาะบางคน และแต่ละคนที่เป็นก็อาจมีอาการต่างๆ ไม่เท่ากันเสมอไป

คุณผู้หญิงที่ไม่ค่อยแน่ใจว่าตัวเองมีอาการของ PMS หรือไม่ อาจลองใช้วิธีจดบันทึกของอาการที่เกิดขึ้นก่อนที่จะมีประจำเดือนดู สักประมาณ 2-3 เดือนติดๆ กัน เพื่อสังเกตว่าเกิดอาการคล้ายๆ กันอย่างใดหรือไม่ มีความรุนแรงขนาดไหน และมีระยะเวลาเท่าใด รวมทั้งผลกระทบทางอารมณ์ที่เกิดขึ้นในช่วงนั้น หากพบว่ามี ก็คงจะพอสังเกตเห็นได้ว่าเราเข้าข่ายที่ว่า และเมื่อคุณไปปรึกษาแพทย์ บันทึกที่ทำไว้นี้ก็จะช่วยให้แพทย์วินิจฉัยได้ง่ายขึ้น เพื่อหาทางบรรเทาอาการต่อไป

อาการทางจิตใจและอาการทางกาย

อาการไม่สบายตัวก่อนมีประจำเดือนในแต่ละคนอาจเกิดขึ้นแตกต่างกัน แต่โดยรวมแล้วสามารถแบ่งได้เป็น 2 ชนิดคือ อาการทางกาย และอาการทางจิตใจ

1. อาการทางกาย ได้แก่

รู้สึกตัวเองอ้วน พองขึ้น ทำให้แน่นและอึดอัด เหมือนว่ามีน้ำหนักตัวเพิ่มขึ้น เจ็บปวดแบบเป็นตะคริวที่บริเวณท้องน้อย(มดลูก) เต้านมคัดตึง เจ็บสิวปะทุบริเวณใบหน้า ครั่นเนื้อครั่นตัว เดี๋ยวร้อนเดี๋ยวเย็น หิวบ่อย วิงเวียนศีรษะคล้ายจะเป็นลม รู้สึกเหนื่อยอ่อน หมดแรง ใจสั่น ปวดหัว ปวดบริเวณกระดูกเชิงกราน ปวดหลัง หรือปวดกล้ามเนื้อ นิสัยการขับถ่ายเปลี่ยนไปจากปกติ เช่น ท้องผูก หรือท้องเสีย

2. อาการทางจิตใจ ได้แก่

  • หงุดหงิด ฉุนเฉียวง่าย
  • ก้าวร้าว
  • เครียด
  • วิตกกังวล
  • ซึมเศร้า หดหู่
  • อารมณ์แปรเปลี่ยนง่าย เดี๋ยวดีเดี๋ยวร้าย
  • เฉื่อยชา ความสนใจต่อสิ่งใดสิ่งหนึ่งเปลี่ยนไป
  • นอนไม่หลับ
  • เบื่ออาหาร
  • อยากร้องไห้
  • อารมณ์ทางเพศเปลี่ยนไป
  • กระหายน้ำบ่อยๆ
  • รู้สึกสับสน

และเนื่องจากยังไม่มีใครสามารถระบุสาเหตุที่แน่ชัดของการเกิดอาการไม่สบายตัวก่อนมีประจำเดือนเหล่านี้ได้ นอกจากตั้งข้อสังเกตกันไว้ต่างๆ นานา บ้างก็ว่าเกิดจากขาดวิตามิน B แคลเซียม และแมกนีเซียม บ้างก็ว่าเกิดจากการกินยาเม็ดคุมกำเนิด  บ้างก็ว่าเกิดระดับน้ำตาลในเลือดต่ำ หรือระดับธัยรอยด์ฮอร์โมนต่ำไป ทำให้การรักษาเยียวยาจึงได้แต่รักษาไปตามอาการ เช่น ปวดท้องก็ให้ยาแก้ปวด เป็นต้น

การเปลี่ยนรูปแบบวิถีชีวิตบางอย่าง..

แต่อย่างไรก็ตาม วิธีที่แพทย์เน้นเป็นพิเศษเพื่อบรรเทาอาการทรมานที่ว่านี้ก็คือ การเปลี่ยนรูปแบบวิถีชีวิตบางอย่างจะช่วยได้มาก ลองพิจารณาวิธีที่เราแนะนำต่อไปนี้แล้วลองนำไปปฏิบัติตามทีละขั้น เพื่อบรรเทาอาการไม่สบายตัวในช่วงมีประจำเดือนให้รู้สึกดีขึ้น

รับประทานผลไม้ ผัก ธัญพืชต่างๆ ที่มีกากใยเป็นประจำสม่ำเสมอ

ลดเกลือ หรืออาหารเค็ม เพราะเกลือจะมีผลต่ออาการบวมน้ำ และการตึงคัดที่เต้านม

จำกัดการดื่มเครื่องดื่มที่มีคาเฟอีน ทั้งในชา กาแฟ ช็อคโกแลต รวมทั้งเครื่องดื่มประเภทโคคา-โคลา เพราะคาเฟอีนก็มีผลต่อการระคายเคืองและตึงคัดที่เต้านมเช่นเดียวกัน

หลีกเลี่ยงการดื่มเครื่องดื่มผสมแอลกอฮอล์ โดยเฉพาะเวลาที่คุณรู้สึกหดหู่หรือเครียด

พยายามทำจิตใจให้ผ่องใส ไม่จมอยู่ในความเครียด ด้วยการหาวิธีผ่อนคลายแบบต่างๆ เช่น การนั่งสมาธิ เล่นโยคะ การบำบัดโดยใช้กลิ่นหอมเข้าช่วย (อโรมาเธราปี) แม้กระทั่งการนอนแช่น้ำอุ่นๆ เวลาอาบน้ำสักพักหนึ่ง

การออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ อย่างน้อยครั้งละประมาณ 30 นาที 3-4 ครั้งต่อสัปดาห์ นอกจากจะช่วยลดความเครียดแล้ว ยังช่วยให้คลายความหงุดหงิดและรู้สึกกับตัวเองดีขึ้นมาก

หากเกิดอาการข้อเท้าบวม ให้บรรเทาด้วยการนอนราบ และยกขาขึ้นสูง

ปรึกษาแพทย์ ถึงการได้รับสารอาหารบางชนิดเพิ่มขึ้น เช่น วิตามินบี วิตามินอี แคลเซียม แมกนีเซียม หรือ น้ำมันดอก อีฟนิ่งพริมโรส

หากอาการเป็นมาก ควรพบแพทย์

ที่สำคัญอย่างยิ่งคือ ควรพูดคุยถึงความผิดปกติที่เกิดขึ้นและอาการที่เป็นกับคู่ของคุณ หรือคนใกล้ชิด เพื่อให้เขาเข้าใจ และจะได้ช่วยแบ่งเบาภาระที่คุณต้องทำ เช่นช่วยเลี้ยงลูก หรือทำงานบ้าน รวมทั้งไม่ถือสาหาความกับคุณ ในเวลาที่คุณหงุดหงิดฉุนเฉียว หรือไม่สบายตัว

ในเมื่อคุณต้องเผชิญกับช่วงระหว่างเวลาแห่งทุกข์อย่างนี้เป็นประจำทุกเดือน ก็คงยากที่จะเลี่ยงพ้น แต่คุณก็สามารถทำให้ตัวเองมีความสุขกับชีวิตได้ ด้วยการเข้าใจในธรรมชาติในแบบที่มันเป็น และให้รางวัลกับชีวิตด้วยการหากิจกรรมรื่นรมย์ต่างๆ ทำ ออกไปช้อปปิ้งให้สบายใจ หรือไปทำผม ทำเล็บ นวดหน้า อย่างไรที่มีความสุขก็ทำซะ แล้วคุณจะพบว่าคุณสามารถผ่านช่วงเวลาเหล่านี้ได้ไม่ยากเลย

ที่มาข้อมูล :นิตยสาร Health Today และ mcot.net

ประจำเดือนของผู้หญิง ภาษาอังกฤษ เรียกอย่างไร?

– period : สมัย, ประจำเดือน, คาบ, ตอน, ปูน, เพลา
– menstruation : ประจำเดือน, ต่อมโลหิต, การมีประจำเดือน, การมีเมนส์, การมีระดู, ระดู
– menses : ประจำเดือน, ต่อมโลหิต, ระดูสตรี, ระดู
– menstrual period : ประจำเดือน
– monthly period :ประจำเดือน

ผ้าอนามัย ภาษาอังกฤษ sanitary napkin

บทความแนะนำ