PCD ซึมเศร้า ภาวะซึมเศร้า

ทำความรู้จักกับ PCD หรือ อาการซึมเศร้าหลังจบคอนเสิร์ต

Home / สุขภาพทั่วไป / ทำความรู้จักกับ PCD หรือ อาการซึมเศร้าหลังจบคอนเสิร์ต

เชื่อว่าสาวกเกาหลีหลายคนต้องเคยเกิดความรู้สึกเศร้า เสียใจ หดหู่ หลังจากจบคอนเสิร์ตหรือแฟนมีตติ้งของศิลปินที่ชื่นชอบ บางคนถึงขั้นเสียน้ำตา ไม่สามารถดำเนินชีวิตประจำวันได้ในระยะเวลาหนึ่ง ซึ่งอาการดังกล่าวเรียกว่า “PCD หรือ Post Concert Depression” 

PCD อาการซึมเศร้าหลังจบคอนเสิร์ต

แต่จริงๆ แล้วอาการ PCD ไม่ได้เกิดขึ้นเฉพาะกับคนที่เพิ่งชมคอนเสิร์ตเท่านั้น แต่ยังเกิดขึ้นกับผู้ที่มีความสุขมากๆ จากสถานการณ์ต่างๆ อาทิ งานแต่ง งานเลี้ยงสังสรรค์ การเที่ยวในวันหยุดยาว เป็นต้น และเมื่อต้องกลับมาสู่สภาวะปกติ หรือเผชิญหน้ากับความเป็นจริง ก็จะทำให้เกิดอาการ PCD ขึ้นได้

PCD อาการซึมเศร้าหลังจบคอนเสิร์ต

PCD คืออะไร?

PCD หรือ Post Concert Depression ภาวะที่เกิดจากสารแห่งความสุข ได้แก่ Serotonin, Dopamine Endorphin และ Oxytocin หลั่งออกมามาก และเมื่อเหตุการณ์ที่มีความสุขนั้นจบลงอย่างกระทันหัน จะทำให้สารที่หลั่งออกมานั้นมีผลกระทบกับความรู้สึกนึกคิด มักจะมีความรู้สึกเศร้า ใจหาย หดหู่ รู้สึกเสียดายที่ความสุขนั้นหมดไป หรือมีความรู้สึกว่าจะไม่ได้พบเจอความสุขนั้นอีกเป็นเวลานาน

โดยอาการดังกล่าวจะเกิดขึ้นประมาณ 3 วัน บางรายอาจเป็นสัปดาห์ หรืออาจเป็นเดือนๆ เลยก็มี ซึ่งอาจเป็นจุดเริ่มต้นของโรคซึมเศร้าได้

อาการ 9 ระยะ

หากเป็นอาการหลังชมคอนเสิร์ต ในช่วงแรกจะรู้สึกผิดหวัง ที่คอนเสิร์ตจบลงหรือคอนเสิร์ตน่าจะนานกว่านี้ และกังวลว่าจะมีคอนเสิร์ตดีๆ แบบนี้อีกเมื่อไร จะต้องรอคอยอีกนานแค่ไหน แบ่งอาการออกเป็น 9 ระยะ ดังนี้

ระยะที่ 1 จมอยู่กับความสุข

เมื่อได้ชมคอนเสิร์ตที่ดีหรือรอคอยมานาน จะทำให้มีความสุขมากๆ เหมือนได้เติมเต็มส่วนหนึ่งของชีวิต สารแห่งความสุขจะหลั่งออกมามากกว่าปกติ ทำให้ในช่วงนี้จะยังคงจมอยู่กับบรรยากาศในคอนเสิร์ต ดูรูปหรือวีดีโอต่างๆ เกี่ยวกับคอนเสิร์ตหรือศิลปินคนนั้นๆ

ระยะที่ 2 การระบายความรู้สึก

หลังจากได้ชมคอนเสิร์ต ส่วนใหญ่จะต้องการเล่าเรื่องราวในคอนเสิร์ตที่ได้พบเจอมา ให้เพื่อนหรือใครสักคนฟัง เป็นการระบายความรู้สึกที่อยู่ข้างในออกมา อาจโพสภาพ วีดีโอหรือเขียนบรรยายลงในโซเชียลมีเดียของตนเอง

ระยะที่ 3 การตระหนักว่าความสุขจบลงแล้ว

เมื่อความรู้สึกเต็มไปด้วยความสุข แต่ในขณะหนึ่งจะตระหนักได้ว่าอาจจะไม่ได้สัมผัสความสุขนี้อีกเป็นเวลานาน หรืออาจจะไม่เกิดความสุขนี้อีก ซึ่งทำให้รู้สึกเศร้าและหดหู่เข้ามาแทนที่ความสุขที่เพิ่งหมดไป

ระยะที่ 4 กลับสู่ความจริง

หลังจากจบคอนเสิร์ต ทุกคนก็ต้องกลับไปใช้ชีวิตของตนเอง ไม่ว่าจะเป็นการเรียนหนังสือหรือทำงาน จะรู้สึกว่าการดำเนินชีวิตไม่มีความสุข ไม่มีชีวิตชีวา รู้สึกว่าการอยู่ในคอนเสิร์ตนั่นแหละคือชีวิตจริงๆ คือสิ่งที่ต้องการ ยังไม่สามารถยอมรับความจริงได้ว่า ความสุขนั้นจบลงแล้วจริงๆ

ระยะที่ 5 รู้สึกถูกทอดทิ้ง

เมื่อได้ชมคอนเสิร์ตแล้วก็ต้องการที่จะระบายหรือพูดคุยกับเพื่อน ที่ไม่ได้ไปหรือสัมผัสกับบรรยากาศในคอนเสิร์ตโดยตรง ซึ่งส่วนใหญ่เพื่อนๆ ก็จะตอบรับเป็นมารยาท เช่น น่าสนุกนะ ดีจัง จริงป่ะเนี่ย เป็นต้น แต่ผู้เล่าก็จะรู้สึกว่าเพื่อนนั้นไม่ได้รู้สึกอินเท่ากับเรา จนเกิดความรู้สึกโดดเดี่ยว ถูกทอดทิ้ง ไม่มีใครเข้าใจ

ระยะที่ 6 อยู่ในโลกส่วนตัว

แม้ว่าจะมีหลายคนอยู่รอบๆ ตัว แต่คุณก็ไม่สนใจที่จะพูดคุยหรือมีปฏิสัมพันธ์ คุณจะอยากคุยแต่กับคนที่เป็นแฟนคลับหรือเพื่อนที่ได้ไปคอนเสิร์ตด้วยกันกับคุณ และติดตามข่าวสาร ทั้งภาพ วีดีโอและความเคลื่อนไหวทั้งหมดของศิลปินที่คุณรัก เพรารู้สึกว่านี่เป็นทางเดียวที่จะทำให้คุณมีความสุขได้

ระยะที่ 7 การควบคุมความคิด

ในระยะหนึ่งคุณจะเริ่มควบคุมความคิดของตัวเองได้ว่า เดี๋ยวก็มีคอนเสิร์ตดีๆ แบบนี้อีกและคุณจะต้องไปอย่างแน่นอน หรือตั้งใจเก็บเงินเพื่อไปคอนเสิร์ตครั้งหน้า เมื่อควบคุมความคิดได้ตามนี้คุณก็จะค่อยๆ พาตัวเองออกมาจากวังวนความเศร้าได้

ระยะที่ 8 การยอมรับความจริง

เมื่อคุณค่อยๆ จัดการกับความคิดตัวเองได้ ก็จะค่อยๆ ยอมรับความจริงได้แล้วว่าความสุขนั้นจบลงแล้ว และสามารถใช้ชีวิตประจำวันได้อย่างปกติมากขึ้น

ระยะที่ 9

สุดท้ายแล้วอาการเศร้าทั้งหมดจะหายไป คุณจะสามารถดูรูปหรือวีดีโอในคอนเสิร์ตได้โดยที่ไม่รู้สึกเศร้าแล้ว คุณจะคิดว่านั่นเป็นความทรงจำที่ดี จนกว่าจะได้พบกับคอนเสิร์ตนั้นอีกในครั้งต่อๆ ไป ซึ่งคุณก็จะต้องเผชิญกับอาการเหล่านี้อีกครั้งอยู่ดี 55555

PCD อาการซึมเศร้าหลังจบคอนเสิร์ต

วิธีแก้ไข-อาการซึมเศร้าหลังจบคอนเสิร์ต

ร้องไห้ระบายความรู้สึก แม้ว่าหลายคนจะคิดว่าการร้องไห้หลังจบคอนเสิร์จมันเวอร์ไป เกินไปมั้ย แต่บอกเลยว่านี่เป็นการระบายความรู้สึกที่ดีที่สุด เพราะเหมือนได้ปลดปล่อยสิ่งที่อัดอั้นภายในใจออกมาผ่านน้ำตา จึงขอแนะนำให้ร้องไห้ออกมาให้พอ อย่าเก็บมันไว้

ปรับทัศนคติ ถ้ามัวแต่คิดเสียดายที่คอนเสิร์ตจบลงไปแล้ว กังวลว่าจะมีคอนเสิร์ตนี้เกิดขึ้นอีกหรือไม่ ก็จะยังคงจมอยู่กับความเศร้า แต่หากปรับเปลี่ยนทัศนคติใหม่ ลองคิดว่าคุณโชคดีแค่ไหนที่ได้เป็นส่วนหนึ่งในคอนเสิร์ตครั้งนี้ มีอีกหลายคนที่อยากมา แต่ไม่มีโอกาสได้มาคอนเสิร์ตครั้งนี้

ระบายให้ใครสักคนฟัง เป็นอีกหนึ่งหนทางที่จะปลดปล่อยความตื้นตันภายในใจออกมา แต่ควรจะเลือกบุคคลที่เราสามารถเล่าให้ฟังได้ทุกเรื่อง และเอาใจใส่กับสิ่งที่เราจะพูด หรืออีกทางหนึ่งคือการระบายลงในโซเชียลส่วนตัว ก็สามาช่วยได้

เริ่มต้นใหม่ เชื่อว่าคอนเสิร์ตไม่ได้มีเพียงครั้งเดียวอย่างแน่นอน จะต้องมีคอนเสิร์ตเกิดขึ้นอีก ลองตั้งเป้าหมายใหม่หรือเริ่มโปรเจคใหม่ๆ ให้กับตัวเองดู เช่น จะไปคอนเสิร์ตครั้งหน้า เก็บเงินซื้อโทรศัพท์ใหม่ ไปกินบุฟเฟ่ต์เปิดใหม่ เป็นต้น

ขอบคุณภาพและข้อมูลจาก altpress.comunlockmen.com

บทความแนะนำ