สุขภาพจิต โรคเกลียดเสียง

โรคเกลียดเสียง แค่ได้ยินเสียงเคี้ยวอาหาร ก็แทบบ้า !

Home / สุขภาพทั่วไป / โรคเกลียดเสียง แค่ได้ยินเสียงเคี้ยวอาหาร ก็แทบบ้า !

คุณกำลังเป็นอยู่หรือเปล่านะ ที่รู้สึกรำคาญเสียงเคี้ยวอาหาร เสียงกดคีย์บอร์ด หรือเสียงเจาะเเจ๊ะรอบๆ กายจนพูดได้เต็มปากว่าเกลียด ได้ยินแล้วเหมือนจะบ้าต้องหงุดหงิดถึงขั้นปิดหูกันเลย ถ้ามีอาการผิดปกติทุกครั้งที่ได้ยินเสียงน่ารำคาญเหล่านี้ คุณอาจกำลังป่วยเป็นโรคเกลียดเสียง หรือ ‘โรคมีโซโฟเนีย’ (Misophonia) อยู่ก็ได้นะคะ เช็กอาการอื่นๆ กันค่ะ

โรคเกลียดเสียง (Misophonia) คืออะไร

คำว่า Miso แปลว่า เกลียด ส่วน Phon แปลว่า เสียง จึงกลายเป็นโรคเกลียดเสียง เรียกอีกอย่างได้ว่า โรคไวต่อเสียงบางอย่าง นับเป็นโรคจิตเวชอย่างหนึ่ง ซึ่งมีเสียงเป็นตัวเร้า และโดยส่วนมากเป็นเสียงที่ออกมาจากปาก เช่น เสียงเคี้ยวอาหาร เสียงหาว เสียงผิวปาก ทำให้ผู้ป่วยตอบสนองต่อเสียงเหล่านั้นด้วยอาการที่ไม่ปกติ บางคนอาจรู้สึกรำคาญหนักมากหงุดหงิดทุกครั้งที่ได้ยินเสียงส่งผลให้เกิดความเครียดอย่างรุนแรงทั้งทางร่างกายและอารมณ์

โรคเกลียดเสียง (Misophonia) เกิดจากอะไร

โรคมีโซโฟเนียถูกสันนิษฐานว่าเกิดจากความผิดปกติของการทำงานของสมอง นักวิทยาศาสตร์แห่ง U.K.’s Newcastle University ระบุว่า เป็นเพราะสมองของบางคนผลิตอารมณ์ตอบสนองที่มากเกินไป ยืนยันจากการวิจัยที่พบว่าสมองของผู้ป่วยโรคเกลียดเสียงมีการสั่งการสมองส่วนที่แสดงความรู้สึกนึกคิดอย่างไวเกินเหตุ ก่อให้ผู้ป่วยรู้สึกรุนแรงเมื่อได้ยินเสียงเร้าบางเสียง

โรคเกลียดเสียง (Misophonia) มีเสียงอะไรที่กระตุ้นได้บ้าง

เสียงที่มาจากปาก ทั้งเสียงรับประทานอาหาร เสียงบดเคี้ยว เสียงกัดอาหารกรอบๆ

เสียงลมหายใจ เสียงฟืดฟาดจากจมูก

เสียงจากลำคอ เช่น เสียงคนกระซิบกันเบาๆ เสียงแหบๆ ใหญ่ๆ

เสียงจากสิ่งแวดล้อม เช่น เสียงฝน เสียงน้ำไหล เสียงพิมพ์คีย์บอร์ด เสียงจากแป้นสมาร์ทโฟน

เสียงเครื่องใช้อุปกรณ์ เช่น เสียงเอี๊ยดจากจาน เสียงช้อน-ส้อมกระทบกัน

เสียงพลาสติก เช่น เสียงจากการบีบขวดน้ำพลาสติก เสียงกรอบแกรบจากถุงพลาสติก

เสียงรถ เช่น เสียงสัญญาณกันขโมย เสียงปิดประตูรถ เสียงแตร

เสียงเด็กร้องไห้ เสียงเด็กตะโกน แม้กระทั่งเสียงผู้ใหญ่ดัดเสียงเป็นเด็ก

เสียงจากการเคลื่อนไหวร่างกาย เช่น เสียงเคาะเท้า เสียงเดินลากเท้า เสียงดีดนิ้ว

โรคเกลียดเสียง (Misophonia) อาการเป็นยังไง

– อารมณ์เสีย หงุดหงิดอย่างมาก

– รู้สึกไม่สบายทั้งทางกายและจิตใจ

– รู้สึกอยากเผ่นหนี

– รู้สึกรังเกียจ ขยะแขยง

สำหรับคนที่อาการค่อนข้างหนัก อาจมีอาการเหล่านี้ร่วมด้วย

– รู้สึกโกรธ

– รู้สึกเกลียดเสียงเหล่านี้มาก ๆ

– เกิดอาการแพนิค (Panic) ใจสั่น เหงื่อแตก หายใจไม่ออก

– รู้สึกกลัวอย่างรุนแรง

– รู้สึกเหมือนจะตาย รู้สึกตกอยู่ในสถานการณ์ลำบาก

– อยากทำลายหรือฆ่าคนที่ทำให้เกิดเสียงเพียงเพื่อจะหยุดเสียงอันน่ารำคาญนั้นไปซะ

– มีความคิดอยากฆ่าตัวตาย ให้พ้นจากเสียงที่ได้ยิน

โรคเกลียดเสียง (Misophonia) รักษาได้

1. รักษาด้วยการบำบัดจิต

2. วิธีรักษาโรคเกลียดเสียงด้วยการบำบัดทางจิต อาจใช้ได้กับผู้ป่วยที่มีอาการไม่มาก สามารถรักษาโดยการพูดคุย ปรับทัศนคติ และการฝึกฟังอย่างค่อยเป็นค่อยไปได้ ซึ่งการรักษาจะมุ่งฝึกฝนให้ผู้ป่วยรับมือกับเสียงที่ได้ยิน และฝึกควบคุมอารมณ์ของตัวเองเมื่อได้ยินเสียงเร้า

3. รักษาด้วยยา ยาที่ใช้รักษาอาการโรคเกลียดเสียงจะเป็นกลุ่มยาต้านเศร้า ซึ่งจะช่วยให้ผู้ป่วยควบคุมอารมณ์ได้ดีขึ้น ลดความเครียด ความวิตกกังวลเมื่อได้ยินเสียงที่ไม่พึงประสงค์

ขอบคุณข้อมูลจาก : webmd huffingtonpost misophonia

ภาพจาก : Rabbit Daily  kannulin

บทความแนะนำ